บทคัดย่อ

ชื่อเรื่อง : ความเครียดของหญิงตั้งครรภ์วัยรุ่น= กรณีศึกษาโรงพยาบาล ค่ายสรรพสิทธิประสงค์ จังหวัดอุบลราชธานี
โดย : พัณณ์ชิตา ศรีธรรมสิทธิ์
ชื่อปริญญา : วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต
สาขาวิชา : การบริหารบริการสุขภาพ
อาจารย์ที่ปรึกษา : นัทที พัชราวนิช
คำสำคัญ : ความเครียด วัยรุ่น การตั้งครรภ์ในหญิงวัยรุ่น ความเครียดของหญิงตั้งครรภ์วัยรุ่น
   
การวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative research) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาเหตุการณ์หรือสถานการณ์ ที่ก่อให้เกิดความเครียดของหญิงตั้งครรภ์วัยรุ่น กลุ่มตัวอย่าง คือ กลุ่มหญิงตั้งครรภ์วัยรุ่น (อายุต่ำกว่า 19 ปี) ที่มาฝากครรภ์ที่โรงพยาบาลค่ายสรรพสิทธิประสงค์ ซึ่งลงนามในแบบแสดงความยินยอมเข้าร่วมงานวิจัย จำนวน 30 รายเก็บข้อมูลโดยการศึกษาประวัติชีวิตและสัมภาษณ์เชิงลึก (In-depth interview) ในระหว่างเดือน กันยายน 2550-กุมภาพันธ์ 2551 วิเคราะห์ข้อมูลโดยการวิเคราะห์เนื้อหา ผลการศึกษาพบว่า หญิงตั้งครรภ์วัยรุ่นกลุ่มตัวอย่าง มีอายุเฉลี่ย 17.2 ปี ส่วนใหญ่ จบการศึกษาในระดับมัธยมศึกษาตอนต้น และการตั้งครรภ์ของกลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่เกิดจากการไม่ได้คุมกำเนิด เนื่องจากขาดความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง และบางรายมีเพศสัมพันธ์กับเพื่อนชายโดยเลียนแบบสื่อประเภทวิซีดีและอินเตอร์เน็ต กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ให้ความหมายเกี่ยวกับการตั้งครรภ์และทารกเมื่อทราบว่าตั้งครรภ์ในเชิงลบและเปลี่ยนเป็นความหมายเชิงบวกเมื่อเวลาผ่านไป เนื่องจากได้รับกำลังใจจากบุคคลรอบข้างโดยเฉพาะครอบครัว และได้รับการยอมรับจากสังคม มากขึ้น ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการลดความเครียดของหญิงตั้งครรภ์วัยรุ่น นอกจากนี้ผลการวิจัยพบว่าเหตุการณ์และสถานการณ์ที่ก่อให้เกิดความเครียดของหญิงตั้งครรภ์วัยรุ่นกลุ่มตัวอย่างคือการตั้งครรภ์บนพื้นฐานของความไม่พร้อม และมีภาวะพึ่งพาอยู่มากโดยกลุ่มตัวอย่างมีความเครียดเกี่ยวกับปัจจัยด้านการคลอดมากที่สุด ซึ่งส่วนใหญ่เกิดจากความวิตกกังวลเกี่ยวกับอาการเจ็บปวดที่อาจเกิดขึ้นในระหว่างการคลอด รองลงมาได้แก่ปัจจัยด้านเศรษฐกิจของครอบครัว ปัจจัยด้านการปรับบทบาทใหม่ (มารดา)ปัจจัยด้านสัมพันธภาพระหว่างคู่สมรส ปัจจัยด้านบุตรในครรภ์และปัจจัยด้านการเปลี่ยนแปลงภาพลักษณ์ตามลำดับ ส่วนปัจจัยที่สามารถช่วยลดความเครียดในหญิงตั้งครรภ์วัยรุ่นได้ ได้แก่ การได้รับการสนับสนุนจากครอบครัว เช่น การได้รับกำลังใจและการยอมรับจากบุคคลในครอบครัว การได้รับความช่วยเหลือทางด้านการเงิน รวมถึงการดูแลเอาใจใส่ที่ดีจากคู่สมรสและการให้คำแนะนำอธิบายเกี่ยวกับการตั้งครรภ์และการคลอดบุตรที่ชัดเจน และเพียงพอจากสถานพยาบาลที่รับฝากครรภ์ ดังนั้น ควรมีการส่งเสริมให้หญิงตั้งครรภ์วัยรุ่นได้มีความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงของร่างกายในขณะตั้งครรภ์ รวมทั้งกระบวนการคลอดที่ถูกต้อง ทั้งนี้ควรมีการนำแบบประเมินความเครียดในสมุดฝากครรภ์มาใช้อย่างจริงจัง รวมถึงการจัดเจ้าหน้าที่ ที่รับผิดชอบในส่วนนี้อย่างชัดเจนให้มีการพูดคุย ซักถาม หรือเปิดโอกาสให้หญิงตั้งครรภ์วัยรุ่นได้แสดงความรู้สึก เพื่อทราบถึงความเครียดและสามารถแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นกับหญิงตั้งครรภ์วัยรุ่นแต่ละรายได้อย่างแท้จริง
   
ปิดหน้าต่างนี้