บทคัดย่อ

ชื่อเรื่อง : การพัฒนาโปรแกรมคอมพิวเตอร์ช่วยสอนโรคเบาหวานสำหรับบุคลากรทางการแพทย์
โดย : จริยา ประวิทย์ธนา
ชื่อปริญญา : เภสัชศาสตรมหาบัณฑิต
สาขาวิชา : เภสัชกรรมคลินิกและการบริหาร
อาจารย์ที่ปรึกษา : อนันต์ ไชยกุลวัฒนา
คำสำคัญ : โปรแกรมคอมพิวเตอร์ช่วยสอน โรคเบาหวาน บุคลากรทางการแพทย์
   
การวิจัยครั้งนี้ เป็นการพัฒนาโปรแกรมคอมพิวเตอร์ช่วยสอนโรคเบาหวานสำหรับบุคลากรทางการแพทย์ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเปรียบเทียบค่าคะแนนความรู้โรคเบาหวานระหว่างกลุ่มควบคุมซึ่งไม่ได้ใช้โปรแกรมกับกลุ่มทดลองซึ่งใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ช่วยสอนโรคเบาหวาน และศึกษาเปรียบเทียบค่าคะแนนความรู้หลังการทดลองระหว่างกลุ่มวิชาชีพต่าง ๆ ได้แก่ แพทย์ เภสัชกรและพยาบาลวิชาชีพ รวมไปถึงศึกษาทัศนคติในการใช้โปรแกรมของกลุ่มทดลอง โปรแกรมนี้พัฒนาขึ้นโดยใช้โปรแกรม Flash version 8 เนื้อหาโปรแกรมประกอบด้วยความรู้โรคเบาหวานหัวข้อต่าง ๆ ซึ่งอ้างอิงจาก Guideline ของ American Diabetes Association ในปี 2006 วีดีโอสาธิตวิธีฉีดยารูปแบบต่างๆ ระบบประกันสุขภาพในประเทศไทย แบบทดสอบความรู้โรคเบาหวานและกรณีศึกษา กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้ เป็นบุคลากรทางการแพทย์ในจังหวัดอุบลราชธานี ประกอบด้วยแพทย์ 39 คน เภสัชกร 46 คน และพยาบาล 69 คน โดยทำการคัดเลือกกลุ่มควบคุมและกลุ่มทดลองโดยการจับฉลาก ทำการเก็บข้อมูลระหว่างเดือนตุลาคม 2550-เดือนมกราคม 2551 ผลการศึกษา พบว่า กลุ่มทดลองมีค่าคะแนนเฉลี่ย (รวม) ของคะแนนก่อน-หลังทดลองใช้โปรแกรมแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p<0.001) ส่วนกลุ่มควบคุมมีค่าคะแนนเฉลี่ย (รวม) ของคะแนนก่อน-หลังทดลองใช้โปรแกรมไม่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p = 0.182) ผลการเปรียบเทียบข้อมูลคะแนนความรู้โรคเบาหวานหลังทดลองใช้โปรแกรมระหว่างกลุ่มอาชีพต่างๆ พบว่า ค่าคะแนนเฉลี่ย (รวม) หลังการทดลองเปรียบเทียบระหว่างกลุ่มแพทย์และพยาบาลแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p = 0.04) ค่าคะแนนเฉลี่ย (รวม) หลังการทดลองเปรียบเทียบระหว่างกลุ่มเภสัชกรและพยาบาลแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p<0.001) และค่าคะแนนเฉลี่ย (รวม) หลังการทดลองเปรียบเทียบระหว่างกลุ่มวิชาชีพแพทย์และเภสัชกร ไม่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p = 0.55) การประเมินทัศนคติเกี่ยวกับการใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ช่วยสอนโรคเบาหวาน ในส่วนเนื้อหาโดยรวมของโปรแกรม ส่วนการนำเสนอและส่วนการนำไปใช้ประโยชน์ พบว่ากลุ่มทดลองมีความพึงพอใจในโปรแกรมโดยรวมมากกว่า 85 % สรุปได้ว่าโปรแกรมคอมพิวเตอร์ช่วยสอนโรคเบาหวานนี้ช่วยเพิ่มความรู้โรคเบาหวานและเพิ่มความพึงพอใจให้กับบุคลากรทางการแพทย์ในจังหวัดอุบลราชธานีได้
   
ปิดหน้าต่างนี้