บทคัดย่อ

ชื่อเรื่อง : การศึกษาเปรียบเทียบรูปแบบการป้องกันโรคไข้เลือดออกในหมู่บ้าน อำเภอกันทรลักษ์ จังหวัดศรีสะเกษ
โดย : ประคองศิลป์ โพธะเลศ
ชื่อปริญญา : วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต
สาขาวิชา : การบริหารบริการสุขภาพ
อาจารย์ที่ปรึกษา : สุภารัตน์ คำแดง
คำสำคัญ : รูปแบบการป้องกันโรคไข้เลือดออก โรคไข้เลือดออก
   
การศึกษาวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยเชิงวิเคราะห์และสำรวจ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) ศึกษารูปแบบการป้องกันโรคไข้เลือดออกที่มีค่าใช้จ่ายน้อยที่สุด 2) ศึกษาผลการป้องกันโรคและความเสี่ยงต่อการเกิดโรคไข้เลือดออกของแต่ละรูปแบบ 3) ศึกษาระยะเวลาที่เหมาะสมในการป้องกันการเกิดโรคไข้เลือดออก 4) ศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างความรู้เรื่องโรคไข้เลือดออกของประชาชนกับผลการป้องกันโรคไข้เลือดออก และ 5) หาสมการเพื่อพยากรณ์โอกาสในการเกิดโรคไข้เลือดออกของแต่ละรูปแบบ การศึกษาทำการเก็บรวบรวมข้อมูลระหว่างเดือนมีนาคมถึงเดือนกันยายน2548 ในพื้นที่หมู่บ้าน เขตอำเภอกันทรลักษ์ จำนวน 8 หมู่บ้าน โดยแบ่งเป็นหมู่บ้านที่ไม่เคยเกิดโรคและหมู่บ้านที่เคยเกิดโรคไข้เลือดออกในปี พ.ศ.2547 อย่างละ 4 หมู่บ้าน รูปแบบการป้องกันโรคไข้เลือดออกที่ทำการศึกษาในงานวิจัยนี้มี 4 รูปแบบ คือ รูปแบบที่ 1 พ่นหมอกควันกำจัดยุงตัวเต็มวัยอย่างเดียวทุกเดือน รูปแบบที่ 2 ใส่ทรายกำจัดลูกน้ำอย่างเดียวทุกเดือน รูปแบบที่ 3 พ่นหมอกควันกำจัดยุงตัวเต็มวัยร่วมกับใส่ทรายกำจัดลูกน้ำทุกเดือน และรูปแบบที่ 4 พ่นหมอกควันกำจัดยุงตัวเต็มวัยร่วมกับใส่ทรายกำจัดลูกน้ำช่วงก่อนฤดูกาลระบาด และช่วงที่มีการระบาดของโรคไข้เลือดออก แต่ละรูปแบบนำไปศึกษาในหมู่บ้านที่ไม่เคยเกิดโรคไข้เลือดออกและหมู่บ้านที่เคยเกิดโรคไข้เลือดออกในปี พ.ศ.2547 กลุ่มละ 1 หมู่บ้าน ทำการสำรวจดัชนีความชุกของลูกน้ำยุงลาย (Breteau Index; BI) ทุกเดือนเพื่อใช้ประเมินความเสี่ยงของการเกิดโรคไข้เลือดออก เก็บข้อมูลความรู้เรื่องโรคไข้เลือดออกโดยใช้แบบสอบถาม ผลการศึกษา พบว่า ค่าใช้จ่ายเฉลี่ยต่อหลังคาเรือนต่อเดือนของการป้องกันโรคไข้เลือดออกรูปแบบที่ 1, 2, 3 และ 4 เท่ากับ 21.38, 16.45, 36.52 และ 19.02 บาท ตามลำดับ ผลการวิเคราะห์ข้อมูลแบบวัดซ้ำ พบว่าค่าเฉลี่ย BI ของรูปแบบที่ 1 > รูปแบบที่ 4 > รูปแบบที่ 2 > รูปแบบที่ 3 และแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p< 0.001) เมื่อเปรียบเทียบความแตกต่างของรูปแบบการทดลองเป็นรายคู่พบว่ารูปแบบที่ 2 กับ รูปแบบที่ 3 มีค่าเฉลี่ย BI ไม่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p = 0.896) ค่าเฉลี่ย BI ระหว่างหมู่บ้านที่ไม่เคยเกิดโรคกับหมู่บ้านที่เคยเกิดโรคไข้เลือดออกของแต่ละรูปแบบไม่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p = 0.109) ในช่วงที่ดำเนินการทดลองพบผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกในหมู่บ้านที่ทดลองใช้รูปแบบที่ 1 จำนวน 4 ราย และรูปแบบที่ 4 จำนวน 1 ราย เมื่อเปรียบเทียบรูปแบบการป้องกันโรคกับสัดส่วนผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกโดยใช้สถิติโลจิสติก พบว่ารูปแบบที่ 2, 3 และ 4 ไม่มีความสัมพันธ์ต่อสัดส่วนการเกิดโรคไข้เลือดออก ในขณะที่รูปแบบที่ 1 มีความสัมพันธ์ต่อสัดส่วนการเกิดโรคไข้เลือดออกอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (χ 2= 5.682, p = 0.017) โดยมีโอกาสที่จะเกิดผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกมากกว่ารูปแบบอื่น 0.099 เท่า (OR=0.099, p= 0.039) ผลการศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างค่าเฉลี่ย BI กับความรู้เรื่องโรคไข้เลือดออกของประชาชนโดยใช้สถิติสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์เพียร์สัน พบว่าค่าเฉลี่ย BI มีความสัมพันธ์กับความรู้เรื่องโรคไข้เลือดออกของประชาชน อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p = 0.008, r = 0.095) จากผลการทดลองแสดงให้เห็นว่ารูปแบบการป้องกันโรคไข้เลือดออกที่ 2 เป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพดีที่สุด เนื่องจากมีค่าใช้จ่ายน้อย และมีค่าเฉลี่ย BI ต่ำ
   
ปิดหน้าต่างนี้