บทคัดย่อ

ชื่อเรื่อง : ปัจจัยกระตุ้นที่มีผลต่อการกลับไปเสพยาเสพติดของผู้ผ่านการบำบัดฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด = กรณีศึกษาจังหวัดอำนาจเจริญ
โดย : อินทิรา อมรวงศ์
ชื่อปริญญา : วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต
สาขาวิชา : การบริหารบริการสุขภาพ
อาจารย์ที่ปรึกษา : จินตนา นภาพร
คำสำคัญ : ปัจจัยกระตุ้นที่มีผลต่อการกลับไปเสพยาเสพติดของผู้ผ่านการบำบัดฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด
   
การวิจัยในครั้งนี้ เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative research) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อ ศึกษาปัจจัยที่มีผลต่อการกลับไปเสพยาเสพติดซ้ำของผู้ผ่านการบำบัดฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดตามพระราชบัญญัติฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด พ.ศ. 2545 ภายในจังหวัดอำนาจเจริญ กลุ่มตัวอย่าง ใช้วิธีสุ่มอย่างง่ายโดยการจับสลากแบบไม่แทนที่ จำนวน 48 คน แบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่ 1 กลุ่มผู้ผ่านการบำบัดฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดที่กลับไปเสพซ้ำ จำนวน 24 คน และกลุ่มที่ 2 กลุ่มผู้ผ่านการบำบัดฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด ที่ไม่กลับไปเสพซ้ำ จำนวน 24 คน ในกลุ่มตัวอย่างทั้ง 2 กลุ่ม ได้แบ่งกลุ่มย่อยออกเป็น 2 กลุ่มโดยใช้เกณฑ์อายุ กำหนดช่วงอายุไว้ 2 ช่วง คือ ช่วงอายุตั้งแต่ 0 - 24 ปี (กลุ่มเยาวชน) และช่วงอายุตั้งแต่ 24 ปีขึ้นไป (กลุ่มผู้ใหญ่) เก็บข้อมูลโดยการสัมภาษณ์แบบเจาะลึก (In-depth interview) แล้วเก็บข้อมูลจากการสนทนากลุ่ม (Focus group discussion) ทั้ง 4 กลุ่ม เก็บข้อมูลในระหว่างเดือน มิถุนายน - กรกฎาคม 2550 การวิเคราะห์ข้อมูล ข้อมูลลักษณะทางสังคมประชากรใช้โปรแกรมสำเร็จรูป ใช้สถิติเชิงพรรณา ข้อมูลเชิงคุณภาพจากการสัมภาษณ์และสนทนากลุ่มใช้การวิเคราะห์เหตุและผลโดยการบรรยายเชิงพรรณา ผลการวิจัยด้านปัจจัยกระตุ้นที่มีผลต่อการรกลับไปเสพยาเสพติดซ้ำ 1) ปัจจัยด้านการใช้ยาเสพติดเพื่อบำบัดความต้องการของร่างกายหรือจิตใจ และพฤติกรรมการใช้ยาเสพติดหลายประเภทมาเป็นระยะเวลานาน เช่น ยาบ้า และกัญชา เป็นต้น พบว่า ด้านพฤติกรรมการใช้ยาเสพติดหลายประเภทมาเป็นเวลานาน มีผลต่อการกลับไปเสพซ้ำ 2) ปัจจัยด้านครอบครัว ผลการวิจัยพบว่า ไม่มีผลต่อการกลับไปเสพซ้ำ 3) ปัจจัยด้านสังคม ผลการวิจัยพบว่า การคบเพื่อนและกลุ่มสนับสนุนในการกลับคืนสู่สังคม เป็นปัจจัยที่มีผลต่อการกลับไปเสพซ้ำ 4) ปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งได้ศึกษาถึงประเด็น ชุมชนเป็นแหล่งจำหน่ายยาเสพติดหรือเป็นผู้จำหน่ายยาเสพติดและในชุมชนมีแหล่งอบายมุข แหล่งสถานบันเทิง ผลการวิจัยพบว่า ชุมชนเป็นแหล่งจำหน่ายยาเสพติดหรือเป็นผู้จำหน่ายยาเสพติดและในชุมชนมีแหล่งอบายมุข แหล่งสถานบันเทิง มีผลต่อการกลับไปเสพซ้ำ 5) ปัจจัยลักษณะการประกอบอาชีพ ผลการวิจัยพบว่า ลักษณะการประกอบอาชีพมีผลต่อการกลับไปเสพซ้ำ จากผลการศึกษา นอกจากปัจจัยที่กล่าวข้างต้นเป็นปัจจัยกระตุ้นที่มีผลต่อการกลับไปเสพซ้ำแล้ว ยังพบว่า ทัศนคติส่วนบุคคลต่อการเสพและเลิกเสพ เป็นปัจจัยที่สำคัญปัจจัยหนึ่งที่มีผลต่อการกลับไปเสพซ้ำ และกลุ่มที่เสพซ้ำยังมีความเห็นว่า ตนเองไม่ได้ติดยา มียาเสพก็เสพ ไม่มียาก็ไม่เสพ ซึ่งเป็นความเชื่อและทัศนคติที่ผิด ดังนั้น การปรับเปลี่ยนทัศนคติและความเชื่อใหม่ จึงเป็นเรื่องสำคัญ จึงควรมีการให้ความรู้และฝึกทักษะให้มีความเชื่อและมีทัศนคติที่ดีและถูกต้องในการไม่ไปยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติดและการเลิกเสพ ซึ่งจะส่งผลดีต่อตนเอง ครอบครัว และสังคม และต้องเริ่มต้นและเน้นย้ำตั้งแต่วัยเด็กและเยาวชน
   
ปิดหน้าต่างนี้