บทคัดย่อ

ชื่อเรื่อง : การศึกษาพฤติกรรมการบริโภคอาหารของผู้บริโภค อำเภอขุนหาญ จังหวัดศรีสะเกษ
โดย : พรพิมล ธงชัย
ชื่อปริญญา : วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต
สาขาวิชา : การบริหารบริการสุขภาพ
อาจารย์ที่ปรึกษา : จินตนา นภาพร
คำสำคัญ : พฤติกรรมการบริโภค ทัศนคติ ความตระหนัก หลักสุขาภิบาลอาหาร
   
การวิจัย เป็นการวิจัยเชิงสำรวจแบบภาคตัดขวาง เพื่อศึกษาพฤติกรรมการบริโภคอาหารของผู้บริโภค อำเภอขุนหาญ จังหวัดศรีสะเกษ โดยนำแบบจำลองของ Engel และคณะ มาประยุกต์ใช้เป็นกรอบแนวคิดในการวิจัย ใช้เทคนิคการสุ่มตัวอย่างแบบหลายขั้นตอนในการเลือกกลุ่มตัวอย่าง จำนวน 689 คน เก็บข้อมูลโดยใช้แบบสัมภาษณ์ที่พัฒนาขึ้นเอง วิเคราะห์ข้อมูลโดยค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และสัมประสิทธิ์การถดถอยพหุแบบขั้นตอน ด้วยโปรแกรม SPSS for windows version 15.0 ผลการวิจัย พบว่า ความรู้ ทัศนคติ ความตระหนักเกี่ยวกับหลักสุขาภิบาลอาหารและอันตรายจากสารปรุงแต่งและสิ่งปนเปื้อนในอาหารของกลุ่มตัวอย่าง อยู่ในระดับปานกลาง และพฤติกรรมการบริโภคอาหารของกลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ อยู่ในระดับปานกลาง ตัวแปรอิสระที่มีความสัมพันธ์กับพฤติกรรมการบริโภคอาหารของผู้บริโภค อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p-value<0.05) ทั้งหมด 4 ตัวแปร ตัวแปรอิสระที่มีความสัมพันธ์เชิงบวก คือ ระดับการศึกษา รายได้เฉลี่ยต่อเดือน และความตระหนักถึงหลักสุขาภิบาลอาหารและอันตรายจากสารปรุงแต่งและสิ่งปนเปื้อนในอาหาร ส่วนตัวแปรอิสระที่มีความสัมพันธ์เชิงลบ คือ แหล่งจำหน่ายอาหารที่เลือกซื้อ และตัวแปรที่มีความสัมพันธ์กับพฤติกรรมการบริโภคอาหารของผู้บริโภค มากที่สุด คือ ความตระหนักถึงหลักสุขาภิบาลอาหารและอันตรายจากสารปรุงแต่งและสิ่งปนเปื้อนในอาหาร (r=0.636) รองลงมา คือ ระดับการศึกษา (r=0.561) รายได้เฉลี่ยต่อเดือน (r=0.523) และแหล่งจำหน่ายอาหารที่เลือกซื้อ (r=-0.487) ตามลำดับ และมีอิทธิพลสามารถพยากรณ์พฤติกรรมการบริโภคอาหารของผู้บริโภคได้ร้อยละ 36.4
   
ปิดหน้าต่างนี้