บทคัดย่อ

ชื่อเรื่อง : การดื้อยาในผู้ป่วยวัณโรคปอดเสมหะพบเชื้อ จังหวัดอุบลราชธานี
โดย : วันเพ็ญ วัฒนอมรเกียรติ
ชื่อปริญญา : วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต
สาขาวิชา : การบริหารบริการสุขภาพ
อาจารย์ที่ปรึกษา : ฎายิน กุมภลำ
คำสำคัญ : วัณโรคปอดเสมหะพบเชื้อ การดื้อยาวัณโรค
   
การวิจัยแบบภาคตัดขวางนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาความชุกการดื้อยาและปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับการดื้อยาหลายขนานในผู้ป่วยวัณโรคปอดเสมหะพบเชื้อทุกราย ที่ขึ้นทะเบียนรักษาในจังหวัดอุบลราชธานี ระหว่างวันที่ 1 ตุลาคม 2547 ถึง 30 กันยายน 2549 ผู้ป่วยวัณโรคปอดเสมหะพบเชื้อได้รับการตรวจเสมหะเพาะเชื้อและทดสอบความไวต่อยาของเชื้อวัณโรคก่อนเริ่มการรักษาและรับคำปรึกษาเพื่อตรวจการติดเชื้อเอชไอวีด้วยความสมัครใจ การบันทึกข้อมูลใช้แบบบันทึกข้อมูลตามมาตรฐานแผนงานควบคุมวัณโรคแห่งชาติและแบบเฝ้าระวังวัณโรคเชิงรุกแห่งประเทศไทย วิเคราะห์ข้อมูลผู้ป่วยและผลการทดสอบดื้อยาโดยสถิติเชิงพรรณาและวิเคราะห์ปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับการดื้อยาหลายขนานด้วยสถิติ Chi-square และ Odds ratio (OR) ที่ระดับความเชื่อมั่นร้อยละ 95 ผลการศึกษาพบผู้ป่วยวัณโรคปอดเสมหะพบเชื้อ 2,154 ราย เป็นผู้ป่วยใหม่ร้อยละ 90.34 ตรวจเสมหะเพาะเชื้อ 1,782 ราย พบผลเพาะเชื้อบวกร้อยละ 87.04 มีผลพิสูจน์เชื้อยืนยันวัณโรคและผลทดสอบดื้อยา 1,403 ราย เป็นเพศชาย 982 ราย อายุเฉลี่ย 50.516.4 ปี พบผู้ป่วยที่มีการดื้อยาหลายขนานร้อยละ 3.64 โดยพบการดื้อยาหลายขนานในผู้ป่วยใหม่ร้อยละ 1.49 และพบการดื้อยาหลายขนานในผู้ป่วยที่เคยรักษาวัณโรคร้อยละ 25 อายุของผู้ป่วยที่มีการดื้อยาหลายขนานแตกต่างจากผู้ป่วยที่ไม่มีการดื้อยาหลายขนานอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p-value=0.005) ปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับการดื้อยาหลายขนานอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ได้แก่ การติดเชื้อเอชไอวี (OR=2.61, p-value=0.004) ประวัติเคยรักษาวัณโรค (OR=22.04, p<0.001) และขึ้นทะเบียนรักษาที่โรงพยาบาลจังหวัด (OR=2.75, p-value=0.001) ส่วน เพศ การใช้ยาเสพติดชนิดฉีดเข้าเส้น การเป็นเบาหวานร่วมและภูมิลำเนาไม่มีความสัมพันธ์กับการดื้อยาหลายขนาน ดังนั้นจึงควรจัดระบบการรักษาผู้ป่วยวัณโรคอย่างมีประสิทธิภาพสำหรับผู้ป่วยวัณโรคใหม่ เพื่อป้องกันปัญหาการเกิด MDR-TB และจัดระบบเฝ้าระวังวัณโรคดื้อยาอย่างมีประสิทธิภาพ
   
ปิดหน้าต่างนี้