บทคัดย่อ

ชื่อเรื่อง : วิธีการบริหารคลังที่เหมาะสมเพื่อลดต้นทุนรวมของการบริหารเวชภัณฑ์ กรณีศึกษา โรงพยาบาลวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี
โดย : กิ่งแก้ว สุระเสน
ชื่อปริญญา : เภสัชศาสตรมหาบัณฑิต
สาขาวิชา : เภสัชกรรมคลินิกและการบริหาร
อาจารย์ที่ปรึกษา : สัมมนา มูลสาร
คำสำคัญ : ปริมาณการสั่งซื้อที่ประหยัด ต้นทุนรวม การบริหารยาคงคลัง
   
การศึกษาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อหาวิธีการบริหารคลังที่เหมาะสมที่ทำให้ต้นทุนโดยรวมของการบริหารเวชภัณฑ์มีค่าน้อยที่สุดของโรงพยาบาลวารินชำราบ เป็นการศึกษา เชิงพรรณนาเก็บข้อมูลย้อนหลัง เป็นระยะเวลา 1 ปี ตั้งแต่ตุลาคม 2549 ถึง 30 กันยายน 2550 เก็บข้อมูลต้นทุนพื้นฐานโดยใช้แนวทางของ International Health Program Thailand ประกอบด้วยต้นทุนค่าแรง ต้นทุนค่าวัสดุ และต้นทุนค่าลงทุน ส่วนต้นทุนในการบริหารเวชภัณฑ์คงคลัง ได้แก่ ต้นทุนการสั่งซื้อ และต้นทุนการเก็บรักษา วิเคราะห์โดยใช้ระบบต้นทุนระบบฐานกิจกรรม ทั้งนี้การจัดการยาคงคลังใช้ระบบ ABC ANALYSIS โดยแยกรายการยาออกเป็น 3 กลุ่ม เป็น กลุ่ม A, B และ C ตามมูลค่าการใช้ยาสะสมตลอดปี จากนั้นนำยากลุ่ม A และ กลุ่ม C มาหาต้นทุนรวมของยาตามรูปแบบการสั่งซื้อแบบปริมาณการสั่งซื้อที่ประหยัด (EOQ - Economic Ordering Quantity) แล้วเปรียบเทียบกับต้นทุนรวมของยาตามรูปแบบการสั่งซื้อแบบเดิม ผลการศึกษาพบว่า เมื่อเปรียบเทียบต้นทุนรวมของยากลุ่ม A และกลุ่ม C อย่างละ 59 รายการ ตามวิธีการสั่งซื้อแบบเดิมกับการใช้วิธีการสั่งซื้อแบบ EOQ ทั้งนี้เมื่อกำหนดให้ 1 ใบ สั่งซื้อ มีรายการยาเท่ากับ 1, 2 หรือ 3 รายการ พบว่าวิธีการสั่งซื้อแบบ EOQ จะมีต้นทุนรวมของการบริหารเวชภัณฑ์น้อยกว่าวิธีการสั่งซื้อแบบเดิมเท่ากับ 290,255.44 บาท, 325,523.55 บาท และ 337,827.63 บาทต่อปี ตามลำดับ ผลการศึกษานี้แสดงให้เห็นว่าวิธีการสั่งซื้อแบบ EOQ มีประสิทธิผลในการลดต้นทุนรวมของการบริหารเวชภัณฑ์ได้ อย่างไรก็ตามการนำวิธีการสั่งซื้อแบบ EOQ นี้ไปใช้จริง ควรมีการปรับให้เหมาะสมกับยาแต่ละรายการซึ่งมีอัตราการใช้ไม่คงที่ตลอดปี
   
ปิดหน้าต่างนี้