บทคัดย่อ

ชื่อเรื่อง : ผลของการให้การบริบาลทางเภสัชกรรมในผู้ป่วยวัณโรค ที่คลินิกวัณโรค โรงพยาบาลยางชุมน้อย จังหวัดศรีสะเกษ
โดย : ทิวาวรรณ สกุลจันทร์
ชื่อปริญญา : เภสัชศาสตรมหาบัณฑิต
สาขาวิชา : เภสัชกรรมคลินิกและการบริหาร
อาจารย์ที่ปรึกษา : ลักษณา เจริญใจ
คำสำคัญ : การบริบาลทางเภสัชกรรม ผู้ป่วยวัณโรค คลินิกวัณโรค
   
การวิจัยเชิงกึ่งทดลอง มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาเปรียบเทียบประสิทธิผลการให้บริบาลทางเภสัชกรรมก่อนและหลังการมีส่วนร่วมของเภสัชกรที่คลินิกวัณโรคโดยประเมินในด้านกระบวน การดำเนินงานและผลลัพธ์ได้แก่ จำนวนปัญหาในการใช้ยาของผู้ป่วย ความรู้เรื่องโรคและยา ความพึงพอใจของผู้ป่วยต่อบริการที่คลินิกวัณโรค รวมถึงศึกษาความสัมพันธ์ของปัจจัยส่วนบุคคลและพฤติกรรมสุขภาพของผู้ป่วยกับปัญหาจากการใช้ยาใช้แบบเก็บข้อมูลที่ผู้วิจัยสร้างขึ้นเก็บข้อมูล 2 ช่วงคือ ช่วงก่อนการมีส่วนร่วมของเภสัชกรเป็นกลุ่มควบคุมจำนวน 83 คน เก็บข้อมูลย้อนหลังจากเวชระเบียนตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2549 ถึง 30 กันยายน 2550 และช่วงที่เภสัชกรปฏิบัติงานที่คลินิกวัณโรคเป็นกลุ่มทดลอง จำนวน 52 คน โดยศึกษาไปข้างหน้าตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2550 ถึง 30 มิถุนายน 2551 วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติเชิงพรรณนาและเปรียบเทียบค่าเฉลี่ยโดยใช้สถิติ t-test, Pearson’s chi-square test, One way Anova และ Mann Whitney U-test ผลการศึกษา พบว่า เภสัชกรสามารถบ่งชี้ปัญหาจากการใช้ยาได้เพิ่มขึ้น และพบจำนวนปัญหาจากการใช้ยาในช่วงที่มีเภสัชกรในการดำเนินงานบริบาลทางเภสัชกรรมมากกว่าในช่วงที่ไม่มีเภสัชกรอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p<0.05) โดยพบจำนวนปัญหาเฉลี่ยต่อผู้ป่วยในกลุ่มทดลอง 7.40 + 2.47 ปัญหา และจำนวนปัญหาเฉลี่ยต่อผู้ป่วยในกลุ่มควบคุม 0.73 + 0.91 ปัญหา จากจำนวนปัญหาโดยรวมที่พบ 385 และ 61 ปัญหาในกลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุมตามลำดับ ซึ่งปัญหาที่พบมากที่สุดคือ ปัญหาอาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา ร้อยละ 65.4 และ 88.6 ในกลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุมตามลำดับ ในจำนวนปัญหาที่พบสามารถแก้ไขได้ 301 ปัญหา (ร้อยละ 78.18) ผู้ป่วยกลุ่มทดลองมีคะแนนความรู้เรื่องโรคและยารวมเฉลี่ยในระดับมากคือ 17.04  1.37 คะแนน จากคะแนนเต็ม 20 คะแนน คะแนนความรู้โดยรวมของผู้ป่วยกลุ่มทดลองไม่มีความสัมพันธ์กับปัญหาจากการใช้ยารักษาวัณโรคโดยรวม (r = -0.28, p = 0.845) ผลการประเมินความพึงพอใจของผู้ป่วยต่อการบริบาลทางเภสัชกรรมที่คลินิกวัณโรคในด้านโครงสร้างของคลินิกและผู้ให้บริการ พบว่าผู้ป่วยกลุ่มทดลองมีความพึงพอใจโดยรวมในระดับมาก (คะแนนเฉลี่ย 3.81  0.22 จากคะแนนเต็ม 5) ปัจจัยส่วนบุคคลที่มีความสัมพันธ์กับปัญหาการใช้ยาโดยรวมของผู้ป่วยกลุ่มทดลองอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ คือ ประวัติการมีบุคคลในครอบครัวป่วยเป็นวัณโรค มีความสัมพันธ์กับปัญหาการจ่ายยาของงานเภสัชกรรมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (U =214.5, p = 0.012) และพฤติกรรมของผู้ป่วยในด้านการสูบบุหรี่ การดื่มสุรา และการใช้ยาไม่มีความสัมพันธ์กับปัญหาการใช้ยาโดยรวม การศึกษานี้เป็นประโยชน์กับเภสัชกรผู้ปฏิบัติงานที่คลินิกวัณโรค โรงพยาบาลยางชุมน้อย จังหวัดศรีสะเกษ โดยจะได้นำไปปรับปรุงกระบวนการให้บริบาลทางเภสัชกรรมร่วมกับทีมสหสาขาวิชาชีพ อันจะนำไปสู่การเพิ่มคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยวัณโรค
   
ปิดหน้าต่างนี้