บทคัดย่อ

ชื่อเรื่อง : ประเภทของสถานบริการสุขภาพที่ใช้บริการเมื่อเจ็บป่วยและความพึงพอใจของผู้รับบริการศูนย์สุขภาพชุมชน/สถานีอนามัย กรณีศึกษาอำเภอมหาชนะชัย จังหวัดยโสธร
โดย : ศุภสิทธิ์ ตั้งจิต
ชื่อปริญญา : วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต
สาขาวิชา : การบริหารบริการสุขภาพ
อาจารย์ที่ปรึกษา : สมชาย สินชัยสุข
คำสำคัญ : ประเภทของสถานบริการ ความพึงพอใจ ผู้รับบริการ ศูนย์สุขภาพชุมชน
   
การศึกษาครั้งนี้เป็นการศึกษาวิจัยเชิงสำรวจแบบตัดขวาง (Cross-sectional survey) ในด้านประเภทของสถานบริการที่ใช้บริการเมื่อเจ็บป่วยและความพึงพอใจของผู้รับบริการศูนย์สุขภาพชุมชน/สถานีอนามัย ในเขตอำเภอมหาชนะชัย จังหวัดยโสธร โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อทราบประเภทของสถานบริการสุขภาพที่ใช้บริการเมื่อเจ็บป่วย ประเมินความพึงพอใจของผู้มารับบริการและวิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างเพศ อายุ สถานภาพการสมรส ระดับการศึกษา อาชีพ รายได้ ประเภทของสิทธิบัตรกับความพึงพอใจของผู้รับบริการศูนย์สุขภาพชุมชน/สถานีอนามัยเป็นรายคู่ โดยทำการศึกษากลุ่มตัวอย่างจากประชาชนทั่วไปที่ไม่เคยหรือผู้เคยมารับบริการที่ศูนย์สุขภาพชุมชน อำเภอมหาชนะชัย จังหวัดยโสธร จำนวน 654 คน.ในระหว่างเดือน มิถุนายน-สิงหาคม 2550 ผลการศึกษา พบว่า กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่เป็นเพศหญิง ร้อยละ 59.0 มีอายุเฉลี่ย 42.51 ปี สถานภาพสมรส ร้อยละ 77.7 วุฒิการศึกษาสูงสุด ระดับประถมศึกษา ร้อยละ 56.3 ประกอบอาชีพเกษตรกรรม ร้อยละ 70.5 มีรายได้ครอบครัวเฉลี่ยต่อเดือนประมาณ 5,200 บาท ส่วนใหญ่ใช้สิทธิในการรักษาพยาบาลประเภทบัตรทอง (30 บาท) ร้อยละ 86.5 ไม่มีโรคประจำตัว ร้อยละ 69.6 และในรอบ 6 เดือนเคยไปใช้บริการทางการแพทย์ ร้อยละ 94.2 โดยใช้บริการสุขภาพศูนย์สุขภาพชุมชน/สถานีอนามัยมากที่สุด ร้อยละ 29.1 รองลงมาคือ คลินิก ร้อยละ 15.9 ซึ่งผู้มารับบริการศูนย์สุขภาพชุมชน/สถานีอนามัย โดยรวมมีความพึงพอใจอยู่ในระดับมาก (ค่าเฉลี่ย = 3.81) เมื่อพิจารณารายด้าน พบว่า มีความพึงพอใจอยู่ในระดับมากทุกด้าน โดยด้านความสะดวกมีค่าเฉลี่ยสูงสุด (ค่าเฉลี่ย= 3.92) รองลงมาคือ ด้านอัธยาศัย (ค่าเฉลี่ย = 3.89) ด้านข้อมูลข่าวสารที่ได้รับ (ค่าเฉลี่ย = 3.80) ด้านค่าใช้จ่าย (ค่าเฉลี่ย = 3.78) ด้านการประสานบริการ (ค่าเฉลี่ย = 3.76 และด้านคุณภาพบริการ (ค่าเฉลี่ย= 3.73) ตามลำดับ เมื่อเปรียบเทียบความแตกต่างของระดับความพึงพอใจของผู้เคยมารับบริการศูนย์สุขภาพชุมชน พบว่า ผู้ที่มีความแตกต่างเรื่องเพศ อายุ สถานภาพสมรส อาชีพ และการใช้หลักประกันสุขภาพ มีความพึงพอใจโดยรวมไม่แตกต่างกัน (p > 0.05) แต่พบว่า ระดับการศึกษา และรายได้ มีความสัมพันธ์กันกับความพึงพอใจโดยรวมของผู้เคยมารับบริการที่ศูนย์สุขภาพชุมชน อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p< 0.05). จากผลการศึกษาครั้งนี้ ได้ชี้ให้เห็นว่า ศูนย์สุขภาพชุมชนต่าง ๆ ที่ให้บริการประชาชน ควรตระหนักถึงความสำคัญในการพัฒนาคุณภาพของงานบริการ และส่งเสริมให้ประชาชนได้รับบริการที่มีคุณภาพและครอบคลุม โดยเฉพาะการบริการในด้านความด้านความสะดวก อัธยาศัย ข้อมูลข่าวสารที่ได้รับ ค่าใช้จ่าย การประสานบริการ และคุณภาพบริการ เพื่อให้ประชาชนได้รับบริการที่มีคุณภาพ
   
ปิดหน้าต่างนี้