บทคัดย่อ

ชื่อเรื่อง : การประเมินผลการดำเนินงานระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉิน จังหวัดอุบลราชธานี
โดย : ลัดดา ภัทราพรนันท์
ชื่อปริญญา : วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต
สาขาวิชา : การบริหารบริการสุขภาพ
อาจารย์ที่ปรึกษา : พรรณรัตน์ อกนิษฐาภิชาติ
คำสำคัญ : การประเมินผล ระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉิน
   
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อประเมินผลการดำเนินงานระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉินจังหวัดอุบลราชธานี ด้านปัจจัยนำเข้า กระบวนการ ผลผลิตและผลลัพธ์ ตามมาตรฐานในคู่มือการจัดระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ของศูนย์นเรนทร เก็บข้อมูลจากหน่วยรถพยาบาล เอกสารการปฏิบัติงานในระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉิน และเวชระเบียนผู้ป่วยอุบัติเหตุ โรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์ และเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานในรถพยาบาลประกอบด้วย พยาบาลวิชาชีพจำนวน 193 คน เวชกรฉุกเฉินขั้นกลางจำนวน 18 คน เวชกรฉุกเฉินขั้นพื้นฐานจำนวน 258 คน อาสาสมัครกู้ภัยจำนวน 140 คน และหัวหน้าหน่วยรถพยาบาลจำนวน 62 หน่วย รวบรวมข้อมูลด้วยแบบสอบถาม แบบสำรวจและสัมภาษณ์ที่สร้างขึ้น ระหว่าง 1 มกราคม – 30 เมษายน 2550 วิเคราะห์ข้อมูลโดยการใช้สถิติเชิงพรรณนา และสถิติ Chi square ผลการวิจัยด้านปัจจัยนำเข้า พบว่าบุคลากรระดับพยาบาลวิชาชีพมีการอบรมตามมาตรฐานน้อยที่สุดที่ร้อยละ 28.7 มีคะแนนความรู้เฉลี่ยร้อยละ 72.3 ประเด็นที่ได้คะแนนน้อยที่สุดคือ การประเมินสถานการณ์ เวชกรฉุกเฉินขั้นกลางมีคะแนนความรู้เฉลี่ยร้อยละ 82.3 เวชกรฉุกเฉินขั้นพื้นฐานได้รับการอบรมครบทุกคน มีคะแนนความรู้เฉลี่ยร้อยละ 64.7 ประเด็นที่ได้คะแนนน้อยที่สุดคือเรื่องการดูแลผู้ป่วยต่อเนื่องในรถพยาบาล อาสาสมัครกู้ภัยได้รับการอบรมร้อยละ 94.3 มีคะแนนความรู้เฉลี่ยร้อยละ 69.9 ส่วนด้านวัสดุและอุปกรณ์ งบประมาณและการบริหารจัดการพบว่าในหน่วยรถพยาบาลระดับสูงมีพยาบาลวิชาชีพเป็นหัวหน้าหน่วยและเป็นแกนหลักในการกำหนดนโยบาย ที่ตั้งหน่วยรถพยาบาลส่วนมากไม่เอื้อต่อการปฏิบัติงาน วัสดุ ครุภัณฑ์และเวชภัณฑ์ในรถพยาบาลใช้ร่วมกับห้องฉุกเฉิน มีรถพยาบาลไว้สำหรับออกปฏิบัติการเพียงร้อยละ 5.9 และมีการจัดเจ้าหน้าที่ไว้เฉพาะออกปฏิบัติการในช่วงเทศกาลเท่านั้น สำหรับในหน่วยรถพยาบาลระดับพื้นฐานพบว่า มีที่ตั้งหน่วยเหมาะสมร้อยละ 92.1 อุปกรณ์มีครบตามกำหนด ร้อยละ 87.9 แต่ส่วนใหญ่มีสภาพไม่พร้อมใช้ ผลการวิจัยด้านกระบวนการดำเนินงาน พบว่าการให้การช่วยเหลือเบื้องต้นในผู้ป่วยอุบัติเหตุมีความเหมาะสม เรียงลำดับจากมากที่สุดไปหาน้อยที่สุด คือ การดามกระดูก การห้ามเลือดและการช่วยหายใจ เท่ากับ ร้อยละ 60.6, 54.0 และ 22.5 ตามลำดับ ส่วนด้านความรวดเร็วในการเข้าถึงตัวผู้ป่วยนับจากรับแจ้งถึงพบผู้ป่วยตามมาตรฐานในระยะทางน้อยกว่า 10 กิโลเมตร และ 10 – 20 กิโลเมตร เท่ากับ ร้อยละ 70.1 และ 70.5 ตามลำดับ และเมื่อระยะทางมากกว่า 20 กิโลเมตร ความเร็วลดลงเหลือร้อยละ 58.8 ด้านความเร็วในการนำส่งผู้ป่วยนับจากรับแจ้งถึงโรงพยาบาล ในระยะทางน้อยกว่า 10 , 10-20 และ 21-30 กิโลเมตร ได้ภายใน 30 นาทีเท่ากับ ร้อยละ 95.7, 80.1 และ 40.4 ตามลำดับ ผลการวิจัยด้านผลผลิตพบว่ามีความครอบคลุมของการให้บริการในผู้ป่วยห้องฉุกเฉินทั้งจังหวัด เท่ากับร้อยละ 10.4 และด้านผลลัพธ์พบว่าผู้ป่วยที่มาด้วยระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉินมีอัตราตายมากกว่าการมาด้วยวิธีอื่นๆ (ร้อยละ 5.0 และ 1.6, ตามลำดับ, p<0.001) แต่เมื่อเปรียบเทียบในกลุ่มผู้ป่วยที่มีค่าโอกาสรอดชีวิตเท่ากัน พบว่าในกลุ่มที่มีค่าโอกาสรอดชีวิตมาก (Ps>0.75) มีอัตราตายไม่แตกต่างกัน (ร้อยละ 3.5 และ 1.3 ตามลำดับ, p=0.102) และเมื่อเปรียบเทียบกับฐานข้อมูลเฝ้าระวังการบาดเจ็บระดับชาติ พบว่าอัตราตายในกลุ่มที่มีค่าโอกาสรอดชีวิตระดับต่างๆทั้งในผู้ที่ใช้เวลาเดินทางมาโรงพยาบาลน้อยกว่า 2 ชั่วโมง และมากกว่า 2 ชั่วโมง ไม่มีความแตกต่างกัน
   
ปิดหน้าต่างนี้