บทคัดย่อ

ชื่อเรื่อง : ประสิทธิผลของการนำโปรแกรมคอมพิวเตอร์ Hospital Information Management มาใช้ในงานบริการเภสัชกรรมผู้ป่วยในโรงพยาบาลภูสิงห์ จังหวัดศรีสะเกษ
โดย : ส.เรืองฤทธิ์ สินธู
ชื่อปริญญา : เภสัชศาสตรมหาบัณฑิต
สาขาวิชา : เภสัชกรรมคลินิกและการบริหาร
อาจารย์ที่ปรึกษา : น้องเล็ก บุญจูง
คำสำคัญ : โปรแกรม Hospital Information Management ความคลาดเคลื่อนด้านยา ความพึงพอใจ โรงพยาบาลภูสิงห์
   
การศึกษาวิจัยเชิงทดลองครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อประเมินประสิทธิผลก่อนและหลังการนำโปรแกรมคอมพิวเตอร์ Hospital Information Management มาใช้ในงานบริการเภสัชกรรมผู้ ป่วยใน โดยเปรียบเทียบอัตราความคลาดเคลื่อนด้านยาด้วยวิธีรายงานด้วยความสมัครใจ ในระยะก่อนและหลังการนำโปรแกรมคอมพิวเตอร์มาใช้ระยะเวลา 3 เดือนตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2549 ถึงวันที่ 6 กันยายน 2550 เก็บข้อมูลความพึงพอใจในระยะก่อนและหลังการนำโปรแกรมคอมพิวเตอร์มาใช้โดยใช้แบบสอบถามความพึงพอใจจากแพทย์จำนวน 3 คน เภสัชกรจำนวน 3 คน เจ้าพนักงานเภสัชกรรมจำนวน 3 คนและพยาบาลจำนวน 12 คนและวัดระยะเวลาที่ใช้ในการปฏิบัติงานในแต่ละขั้นตอนในระยะหลังการนำโปรแกรมคอมพิวเตอร์มาใช้เป็นระยะเวลา 10 วัน แล้ววิเคราะห์ข้อมูลโดยการคำนวณค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน สถิติ Chi – square test และสถิติ Paired t-test ผลการวิจัยพบว่าหลังนำโปรแกรมคอมพิวเตอร์มาใช้ในระบบบริการเภสัชกรรมผู้ ป่วยใน อัตราการเกิดความคลาดเคลื่อนด้านยาลดลงอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ โดยในขั้นตอนการสั่งใช้ยาความคลาดเคลื่อนด้านยาเหลือร้อยละ 0.17 (p-value = 0.0009) ขั้นตอนการจัดยาเหลือร้อยละ 0.41 (p-value = 0.0009) ขั้นตอนการจ่ายยาเหลือร้อยละ 0.09 (p-value = 0.0009) และขั้นตอนการบริหารยาแก่ผู้ป่วยเหลือร้อยละ 0.07 ( p-value = 0.0009 ) จำนวนใบสั่งยาที่เกิดความคลาดเคลื่อนด้านยาลดลงอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติเหลือร้อยละ 6.29 (p-value = 0.0009) นอกจากนี้พบว่าระดับความรุนแรงของความคลาดเคลื่อนด้านยาระดับ B ระดับ C และระดับ D ลดลงอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p-value = 0.0009, 0.0009 และ 0.0009 ตามลำดับ) ในด้านความพึงพอใจของบุคลากรที่เกี่ยวข้องพบว่าความพึงพอใจของแพทย์ก่อนและหลังใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ไม่แตกต่างกัน (p-value = 0.549) ส่วนความพึงพอใจของเภสัชกร เจ้าพนักงานเภสัชกรรมและพยาบาลเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p-value = 0.010, 0.003 และ 0.0009 ตามลำดับ) ในส่วนของระยะเวลาที่ใช้ในการปฏิบัติงานพบว่าระยะเวลาที่ใช้ในการตรวจรักษาและสั่งใช้ยาของแพทย์เฉลี่ยต่อผู้ป่วยคือ 3.34 ± 1.26 นาที ระยะเวลาที่ใช้ในการรับคำสั่งใช้ยาและพิมพ์ฉลากยาโดยเภสัชกร จัดยาโดยเจ้าพนักงานเภสัชกรรมและการตรวจสอบการจัดยาโดยเภสัชกรเฉลี่ยต่อผู้ป่วย คือ 2.59 ± 0.99 นาที 2.02 ± 1.02 นาทีและ 1.70 ± 0.65 นาทีตามลำดับและระยะเวลาที่พยาบาลใช้ในการปฏิบัติงานในกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับยา เฉลี่ยต่อวัน 202.91± 5.89 นาที คิดเป็นร้อยละ 26.01 ของเวลาทั้งหมด ผลวิจัยสรุปว่าการนำโปรแกรมคอมพิวเตอร์ Hospital Information Management มาใช้ในระบบบริการเภสัชกรรมผู้ป่วยในช่วยลดความคลาดเคลื่อนด้านยาในทุกประเภทและทุกระดับความรุนแรง ช่วยเพิ่มระดับความพึงพอใจของบุคลากรที่เกี่ยวข้องทุกกลุ่มยกเว้นแพทย์
   
ปิดหน้าต่างนี้