บทคัดย่อ

ชื่อเรื่อง : แรงจูงใจในการปฏิบัติงานของพยาบาลประจำการในแผนกอายุรกรรม โรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์ จังหวัดอุบลราชธานี
โดย : จุรีรัตน์ จันทะมุด
ชื่อปริญญา : วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต
สาขาวิชา : การบริหารบริการสุขภาพ
อาจารย์ที่ปรึกษา : อนันต์ ไชยกุลวัฒนา
คำสำคัญ : THE WORK MOTIVATION / REGISTERED NURSES / MEDICINE DEPARTMENT
   
การวิจัยครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาระดับแรงจูงใจในการปฏิบัติงานของพยาบาลประจำการ แผนกอายุรกรรม โรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์ จังหวัดอุบลราชธานี และเพื่อเปรียบเทียบระดับแรงจูงใจของพยาบาลประจำการ แผนกอายุรกรรม โรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์ จังหวัดอุบลราชธานี จำแนกตามปัจจัยส่วนบุคคล และปัจจัยภายนอก ตามแนวทฤษฎี Herzberg เครื่องมือที่ใช้ คือ แบบสอบถามที่ผ่านการตรวจสอบค่าสัมประสิทธิ์ ความเที่ยงเท่ากับ 0.916 วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติเชิงพรรณนา เพื่อหาค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน และทดสอบค่าสถิติ t – test และค่าสถิติ ANOVA (One Way Analysis of Variance) ประชากรเป้าหมายคือ พยาบาลประจำการ แผนกอายุรกรรมทั้งหมด 11 แผนก จำนวน 105 คน พบว่า พยาบาลประจำการ แผนกอายุรกรรม โรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์ จังหวัดอุบลราชธานี ส่วนใหญ่เป็นเพศหญิง มีอายุเฉลี่ยน้อยกว่า 30 ปี มีสถานภาพสมรสคู่ เป็นพยาบาลวิชาชีพ ระดับปริญญาตรี มีประสบการณ์ทำงานเฉลี่ย 6 – 10 ปี มีจำนวนสมาชิกในครัวเรือน จำนวนสมาชิกที่ทำงานและสมาชิกที่ต้องดูแลเฉลี่ยน้อยกว่า 5 คน รายได้เฉลี่ย 10,501 – 20,000 บาท ไม่มีงานพิเศษอื่นใด การทำงาน 8 ชั่วโมงต่อวัน จำนวน OT 10 – 20 ชั่วโมง/สัปดาห์ หรือจำนวน OT 8 OT ต่อเดือน ระดับแรงจูงใจปัจจัยด้านบุคคลกับปัจจัยจูงใจและระดับแรงจูงใจระหว่างปัจจัยภายนอกกับแรงจูงใจ อยู่ในระดับสูง (คะแนนเฉลี่ย 3.76) โดยมีระดับแรงจูงใจด้านการความรับผิดชอบ สูงกว่าด้านอื่น ๆ(คะแนนเฉลี่ย 4.02) และระดับแรงจูงใจด้านโอกาสก้าวหน้าน้อยกว่าด้านอื่น(คะแนนเฉลี่ย 3.52) ระดับแรงจูงใจปัจจัยด้านบุคคลกับปัจจัยอนามัย และระดับแรงจูงใจปัจจัยภายนอกกับปัจจัยอนามัยโดยรวม อยู่ในระดับปานกลาง (คะแนนเฉลี่ย 3.29) โดยมีระดับแรงจูงใจด้านสถานภาพในสังคม สูงกว่าด้านอื่น (คะแนนเฉลี่ย 4.11) และมีระดับแรงจูงใจ เงินเดือนและค่าตอบแทน น้อยกว่าด้านอื่น ๆ (คะแนนเฉลี่ย 2.60) สำหรับปัจจัยส่วนบุคคล มีค่าเฉลี่ยระดับแรงจูงใจอยู่ในระดับปานกลางไม่แตกต่างกัน(p – value > 0.05) ยกเว้นอายุมีระดับแรงจูงใจแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p – value = 0.01) ส่วนปัจจัยภายนอกทุกด้านมีค่าเฉลี่ยระดับแรงจูงใจอยู่ในระดับปานกลาง ไม่มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p – value > 0.05)
   
ปิดหน้าต่างนี้