บทคัดย่อ

ชื่อเรื่อง : การตรวจสอบความสอดคล้องรายการยา ณ หอผู้ป่วยใน โรงพยาบาลยโสธร
โดย : บุญญารักษ์ บุญทวี
ชื่อปริญญา : เภสัชศาสตรมหาบัณฑิต
สาขาวิชา : เภสัชกรรมคลินิกและการบริหาร
อาจารย์ที่ปรึกษา : น้องเล็ก คุณวราดิศัย
คำสำคัญ : กระบวนการตรวจสอบความสอดคล้องรายการยา ความคลาดเคลื่อนทางยา
   
การวิจัยแบบกึ่งทดลอง (Quasi experimental study) ที่มีกลุ่มศึกษา 1 กลุ่ม (one group design) มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาผลของกระบวนการตรวจสอบความสอดคล้องรายการยาต่อความคลาดเคลื่อนทางยาในแต่ละระดับของการรักษา ตั้งแต่ขั้นตอนแรกรับจนถึงขั้นตอนการจำหน่าย โดยแสดงสัดส่วนความแตกต่างรายการยาที่เกิดจากความไม่ตั้งใจของผู้สั่งใช้ยาต่อจำนวนผู้ป่วยทั้งหมด (Unintentional Discrepancy) อัตราการเกิด potential harm ประเภทและจำนวนความความคลาดเคลื่อน ที่เกิดขึ้นและจัดระดับความรุนแรงที่จะส่งผลลัพธ์ต่อผู้ป่วย รวมถึงการศึกษามูลค่ายาที่ประหยัดและชั่วโมงทำงานในการทำกระบวนการตรวจสอบความสอดคล้องรายการยา กลุ่มตัวอย่างคือผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษา ณ หอผู้ป่วยใน โรงพยาบาลยโสธร จำนวน 237 ราย เก็บข้อมูลโดยเภสัชกร ตั้งแต่วันที่ 2 เดือน ตุลาคม พ.ศ. 2551 ถึงเดือน 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2552 ผลการศึกษาพบสัดส่วนความแตกต่างรายการยาที่เกิดจากความไม่ตั้งใจของผู้สั่งใช้ยาต่อจำนวนผู้ป่วยทั้งหมด (Unintentional Discrepancy) เท่ากับ 0.29 และอัตราการเกิด potential harm หรือ จำนวนผู้ป่วยที่เกิดความคลาดเคลื่อนทางยามี 35 ราย คิดเป็นร้อยละ 14.80 ของผู้ป่วยทั้งหมด นอกจากนี้พบจำนวนรายการยาที่เกิดความคลาดเคลื่อน ร้อยละ 2.03 ซึ่งประเภทความคลาดเคลื่อนทางยาที่พบมากที่สุด คือ ผู้ป่วยไม่ได้รับยาที่เคยใช้ก่อนเปลี่ยนระดับการรักษา และรองลงมาคือได้รับยาผิดขนาด (ร้อยละ 1.88 และ 0.12 ตามลำดับ) โดยไม่พบความคลาดเคลื่อนทางยาในระดับที่เป็นอันตรายต่อผู้ป่วยเนื่องจากได้รับการแก้ไขก่อนถึงตัวผู้ป่วย อย่างไรก็ตามหากไม่มีการแก้ไข คาดการณ์ว่าอาจเกิดความคลาดเคลื่อนทางยาในระดับที่เป็นอันตรายต่อผู้ป่วยร้อยละ 80.00 ของจำนวนผู้ป่วยที่เกิดความคลาดเคลื่อน ในส่วนของยาเดิมที่นำมาใช้ทำให้สามารถประหยัดมูลค่ายาได้ 25,336.66 บาท และระยะเวลาของการดำเนินกระบวนการตรวจสอบความสอดคล้องรายการยาต่อเนื่องตั้งแต่ขั้นตอนแรกรับ ส่งต่อและจำหน่ายในผู้ป่วย 1 ราย จะใช้เวลาทั้งสิ้น 86.40 นาที คิดเป็นเวลาเฉลี่ยในแต่ละขั้นตอนคือ 28 นาที โดยสรุป ผลการศึกษานี้ชี้ให้เห็นว่ากระบวนการตรวจสอบความสอดคล้องรายการยาสามารถค้นหาความคลาดเคลื่อนในการสั่งใช้ยาและช่วยป้องกันไม่ให้เกิดความคลาดเคลื่อนระดับที่รุนแรงจนส่งไปถึงตัวผู้ป่วยได้ รวมถึงช่วยประหยัดมูลค่ายาเมื่อมีการนำยาเดิมของผู้ป่วยมาใช้ ดังนั้นการพัฒนารูปแบบกระบวนการตรวจสอบความสอดคล้องรายการยา จะเป็นแนวทางในการส่งเสริมบทบาทเภสัชกรร่วมกับทีมสหวิชาชีพในการดูแลผู้ป่วย เพื่อเพิ่มความปลอดภัยในการใช้ยามากยิ่งขึ้น
   
ปิดหน้าต่างนี้