บทคัดย่อ

ชื่อเรื่อง : การศึกษาเปรียบเทียบความฉลาดทางอารมณ์เด็ก 3-5 ปี ในศูนย์เด็กที่มีมาตรฐานแตกต่างกัน เขตอำเภอม่วงสามสิบ จังหวัดอุบลราชธานี
โดย : เขมรัศม์ แก้วสุข
ชื่อปริญญา : วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต
สาขาวิชา : การบริหารบริการสุขภาพ
อาจารย์ที่ปรึกษา : สัมมนา มูลสาร
คำสำคัญ : ความฉลาดทางอารมณ์ เด็กปฐมวัย มาตรฐานศูนย์เด็ก
   
การศึกษาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเปรียบเทียบความฉลาดทางอารมณ์เด็กอายุ 3-5 ปี ในศูนย์เด็กที่มีมาตรฐานแตกต่างกัน โดยประเมินความฉลาดทางอารมณ์ของเด็กตามการรับรู้ของครูพี่เลี้ยงเด็ก กลุ่มตัวอย่างเป็นเด็กอายุ 3-5 ปี ทุกคนในศูนย์เด็กในสังกัดองค์การบริการส่วนตำบลม่วงสามสิบ อำเภอม่วงสามสิบ จังหวัดอุบลราชธานี ในจำนวน 12 ศูนย์ที่สุ่มมาด้วยการจับสลากจากทั้งหมด 35 ศูนย์ เป็นศูนย์เด็กระดับต้องปรับปรุงจำนวน 2 ศูนย์ ศูนย์เด็กระดับพื้นฐานจำนวน 9 ศูนย์ และศูนย์เด็กระดับดีจำนวน 1 ศูนย์ และมีเด็กทุกคนในศูนย์นี้จำนวนทั้งหมด 374 คน เก็บข้อมูลระหว่างเดือนธันวาคม 2550 - เดือนกุมภาพันธ์ 2551 เครื่องมือที่ใช้ในการศึกษาได้แก่ แบบสอบถามข้อมูลทั่วไปด้านพ่อแม่ผู้ปกครอง ด้านตัวเด็ก และด้านครูพี่เลี้ยง แบบประเมินมาตรฐานศูนย์เด็กเล็กน่าอยู่ของ กรมอนามัย และแบบประเมินความฉลาดทางอารมณ์เด็ก 3-5 ปี ของกรมสุขภาพจิต วิเคราะห์ข้อมูลด้วยสถิติ Multiple regression และ Logistic regression โดยควบคุมตัวแปรร่วมด้านพ่อแม่ผู้ปกครองและ ด้านตัวเด็ก ได้แก่ อายุ ระดับการศึกษาสูงสุด รายได้ ความสัมพันธ์ภายในครอบครัว เพศเด็ก น้ำหนัก ส่วนสูง น้ำหนักเทียบส่วนสูง น้ำหนักเทียบอายุ ประวัติการเจ็บป่วยในอดีต ประวัติโรคประจำตัว ผลการวิเคราะห์ข้อมูลด้วยสถิติ Multiple regression พบว่าความฉลาดทางอารมณ์ของเด็กในศูนย์เด็กระดับพื้นฐานและระดับดีมีคะแนนต่ำกว่าเด็กในศูนย์เด็กระดับต้องปรับปรุงอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p<.05) ในด้านคะแนนรวมความฉลาดทางอารมณ์ ด้านมีน้ำใจ ด้านรู้ว่าอะไรถูกผิด ด้านเก่ง ด้านกระตือรือร้น/สนใจใฝ่รู้ ด้านกล้าพูดกล้าบอก ด้านสุข ด้านมีความพอใจและด้านสนุกสนานร่าเริง นอกจากนี้ยังพบว่าองค์ประกอบหลักด้านดีและองค์ประกอบย่อยด้านปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงมีเพียงศูนย์เด็กระดับพื้นฐานเท่านั้นที่มีคะแนนต่ำกว่าศูนย์เด็กระดับต้องปรับปรุงอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p<.05) สำหรับองค์ประกอบย่อยด้านรู้จักอารมณ์และองค์ประกอบย่อยด้านอบอุ่นใจพบว่าไม่มีความแตกต่างกันระหว่างศูนย์ทั้ง 3 ระดับ ผลการวิเคราะห์ด้วยสถิติ Logistic Regression เมื่อควบคุมตัวแปรด้านพ่อแม่ผู้ปกครอง และด้านตัวเด็ก พบว่า มีเพียงศูนย์ระดับพื้นฐานที่มีสัดส่วนของเด็กที่มีความฉลาดทางอารมณ์สมวัยด้านสุขมากกว่าเมื่อเทียบกับระดับต้องปรับปรุงอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p<.05) นอกนั้นสัดส่วนของเด็กที่มีความฉลาดทางอารมณ์รวมสมวัยและองค์ประกอบด้านอื่นๆ ทุกองค์ประกอบไม่มีความแตกต่างกันระหว่างศูนย์ทั้ง 3 ระดับ
   
ปิดหน้าต่างนี้