บทคัดย่อ

ชื่อเรื่อง : คุณภาพชีวิตและผลการรักษาของผู้ป่วยเบาหวานที่ได้รับการส่งเสริมสุขภาพ โดยการใช้โยคะ
โดย : ทัศนีย์ แก้วแสง
ชื่อปริญญา : วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต
สาขาวิชา : การบริหารบริการสุขภาพ
อาจารย์ที่ปรึกษา : น้องเล็ก บุญจูง
คำสำคัญ : คุณภาพชีวิต เบาหวาน โยคะ
   
การวิจัยแบบกึ่งทดลอง (Quasi Experiment) ที่มีกลุ่มควบคุมนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาเปรียบเทียบคุณภาพชีวิตและผลการรักษาของผู้ป่วยโรคเบาหวานก่อนและหลังได้รับการส่งเสริมสุขภาพโดยการใช้สมาธิ และโยคะอาสนะ และเพื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มที่ไม่ได้รับการส่งเสริมสุขภาพโดยใช้สมาธิ โยคะอาสนะ กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการศึกษาคือผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 ที่มารับการรักษาที่โรงพยาบาลกันทรลักษ์ จังหวัดศรีษะเกษ จำนวน 140 คน แบ่งเป็นกลุ่มทดลอง 70 คนและกลุ่มควบคุม 70 คน ทำการศึกษาโดยกลุ่มทดลองได้รับการส่งเสริมสุขภาพโดยการใช้สมาธิ โยคะ อาสนะ ตามที่กำหนดไว้ และเก็บข้อมูลก่อนและหลังทดลองทั้งสองกลุ่มโดยใช้แบบสอบถามคุณภาพชีวิตซึ่งแบ่งเป็น 3 ด้าน คือ ความพึงพอใจในกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการเป็นโรคเบาหวาน ความรู้สึกที่เกิดขึ้นที่เกี่ยวข้องกับการเป็นเบาหวาน และความวิตกกังวลในเรื่องต่างๆ และวัดผลการรักษาด้วยค่าระดับน้ำตาลในเลือด (fasting blood sugar, FBS) ระดับฮีโมโกลบินเอวันซี (HbA1C) และค่าดัชนีมวลกาย (body mass index, BMI) จากนั้นวิเคราะห์ข้อมูลโดยสถิติ Chi-square, t-test, paired t-test และ Multiple Regression Analysis ผลการวิจัยมีดังนี้ 1) คุณภาพชีวิตผู้ป่วยเบาหวานก่อนการส่งเสริมสุขภาพโดยใช้สมาธิโยคะอาสนะอยู่ในระดับปานกลาง ( = 3.48) แต่หลังทำสมาธิโยคะอาสนะอยู่ในระดับดี ( = 4.10) พบว่าเมื่อควบคุมตัวแปรอื่นๆ ให้คงที่ ผู้ป่วยเบาหวานมีคุณภาพชีวิตโดยรวมและในทุกๆ ด้านหลังการทดลองแตกต่างกันกับก่อนการทดลองอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p – value < 0.001) 2) คุณภาพชีวิตผู้ป่วยเบาหวานกลุ่มที่ไม่ได้ใช้สมาธิ โยคะอาสนะ อยู่ในระดับปานกลาง ( = 3.51) แต่กลุ่มที่มีการส่งเสริมสุขภาพโดยการใช้สมาธิโยคะอาสนะอยู่ในระดับดี ( = 4.10) และพบว่า ผู้ป่วยเบาหวานกลุ่มทดลองกับกลุ่มควบคุมมีคุณภาพชีวิตในแต่ละด้านและโดยรวมแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p – value < 0.001) 3) ผลการรักษาผู้ป่วยเบาหวานก่อนและหลังของกลุ่มทดลองที่ได้รับการส่งเสริมสุขภาพด้วยการใช้สมาธิโยคะอาสนะ มีค่าเฉลี่ย FBS ค่า HbA1C และค่า BMI หลังการทดลอง ไม่แตกต่างจากผลการรักษาก่อนการทดลองอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p-value = 0.068, 0.208, 0.085 ตามลำดับ) 4) เมื่อเปรียบเทียบผลการรักษาผู้ป่วยเบาหวาน ระหว่างกลุ่มที่มีการส่งเสริมสุขภาพโดยการใช้สมาธิ โยคะอาสนะ กับกลุ่มที่ไม่ได้ใช้สมาธิโยคะอาสนะ พบว่าผู้ป่วยเบาหวานกลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุม มีผลการรักษา FBS, HbA1C, BMI ไม่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p-value = 0.56, 0.859 และ 0.543 ตามลำดับ) ดังนั้นจึงควรมีการส่งเสริมให้มีการจัดตั้งชมรมหรือรวมกลุ่มผู้สนใจในการฝึกสมาธิโยคะอาสนะเพื่อเป็นการส่งเสริมให้ผู้ป่วยได้มีการดูแลสุขภาพตนเองโดยใช้สมาธิโยคะอาสนะควบคู่ไปกับแพทย์แผนปัจจุบัน หรือเป็นทางเลือกให้กับผู้สนใจทั่วๆ ไป
   
ปิดหน้าต่างนี้