บทคัดย่อ

ชื่อเรื่อง : ผลของโปรแกรมทันตสุขศึกษาที่ประยุกต์ใช้ทฤษฎีแรงสนับสนุนทางสังคมต่อ การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของมารดา เพื่อป้องกันโรคฟันผุในเด็กปฐมวัย
โดย : สุมาลี ไชยเสริฐ
ชื่อปริญญา : วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต
สาขาวิชา : การบริหารบริการสุขภาพ
อาจารย์ที่ปรึกษา : จารุวรรณ ธนวิรุฬห์
คำสำคัญ : โปรแกรมทันตสุขศึกษา แรงสนับสนุนทางสังคม พฤติกรรมการป้องกันโรค ฟันผุในเด็กปฐมวัย
   
การวิจัยแบบกึ่งทดลองครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาเปรียบเทียบพฤติกรรมการป้องกันโรคฟันผุของมารดา ก่อนและหลังเข้าร่วมโปรแกรมทันตสุขศึกษาที่ประยุกต์ใช้ทฤษฎีแรงสนับสนุนทางสังคม กลุ่มตัวอย่างเป็นมารดาที่มีบุตรอายุระหว่าง 1 ถึง 3 ปี ในเขตพื้นที่รับผิดชอบของสถานีอนามัยคำน้อยและสถานีอนามัยไก่คำ จำนวน 99 คน แบ่งเป็นกลุ่มศึกษา 50 คน และกลุ่มเปรียบเทียบ จำนวน 49 คน เก็บข้อมูลระหว่างเดือนมีนาคม ถึงเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2550 โดยใช้แบบสัมภาษณ์และแบบสังเกตการณ์ ผลการศึกษาพบว่า กลุ่มมารดาที่เข้าร่วมโปรแกรมทันตสุขศึกษามีคะแนนเฉลี่ยความรู้ทางทันตสุขภาพ การรับรู้โอกาสเสี่ยงต่อการเกิดโรคฟันผุในเด็กปฐมวัย การรับรู้ความรุนแรงของโรคฟันผุในเด็กปฐมวัย และพฤติกรรมการป้องกันโรคฟันผุในเด็กปฐมวัยดีขึ้นกว่าก่อนเข้าร่วมโปรแกรมทันตสุขศึกษา และดีกว่ามารดากลุ่มที่ไม่ได้เข้าร่วมโปรแกรมทันตสุขศึกษา อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ p < .001 นอกจากนี้ พบว่ากลุ่มศึกษาส่วนใหญ่มีการแปรงฟันให้บุตรถูกวิธีมากขึ้น มีปริมาณแผ่นคราบจุลินทรีย์ในช่องปากบุตรน้อยลง และบุตรมีสภาวะเหงือกปกติมากขึ้นกว่าก่อนเข้าร่วมโปรแกรมทันตสุขศึกษา และดีกว่าบุตรของมารดากลุ่มที่ไม่ได้เข้าร่วมโปรแกรมทันตสุขศึกษา พบว่าความรู้ทางทันตสุขภาพของมารดา รับรู้โอกาสเสี่ยงต่อการเกิดโรคฟันผุในเด็กปฐมวัย การรับรู้ความรุนแรงของโรคฟันผุในเด็กปฐมวัย มีความสัมพันธ์กับพฤติกรรมของมารดาในการป้องกันโรคฟันผุในเด็กปฐมวัยอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ p < .001 ส่วนอายุ อาชีพ รายได้และระดับการศึกษาของมารดาไม่มีความสัมพันธ์กับพฤติกรรมของมารดาในการป้องกันโรคฟันผุในเด็กปฐมวัย แสดงว่าโปรแกรมทันตสุขศึกษาที่ประยุกต์ใช้ทฤษฎีแรงสนับสนุนทางสังคมที่จัดขึ้นนี้มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของมารดาในการป้องกันโรคฟันผุในเด็กปฐมวัย
   
ปิดหน้าต่างนี้