บทคัดย่อ

ชื่อเรื่อง : การศึกษาคุณภาพชีวิตผู้ป่วยกระดูกแขน ขาหักที่มาทำการรักษาที่โรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์ อุบลราชธานี
โดย : ปรานี บุญถูก
ชื่อปริญญา : วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต
สาขาวิชา : การบริหารบริการสุขภาพ
อาจารย์ที่ปรึกษา : ปรีชา บุญจูง
คำสำคัญ : กระดูกหัก คุณภาพชีวิต โรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์อุบลราชธานี
   
การศึกษาเชิงพรรณนา (Descriptive study) ครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อศึกษาคุณภาพชีวิตผู้ป่วยกระดูกแขนหรือขาหัก ที่ได้รับการรักษาโดยการเข้าเฝือก หรือผ่าตัดดามเหล็ก ในระยะเวลา 1 เดือน ที่มาตรวจตามนัดที่ห้องตรวจศัลยกรรมกระดูก โรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์ อุบลราชธานีตั้ง แต่เดือน เมษายน พ.ศ. 2548 ถึง เดือนมิถุนายน พ.ศ. 2548 จำนวน 308 คน เก็บข้อมูลด้วยการใช้แบบสอบถาม วัดคุณภาพชีวิตขององค์การอนามัยโลกชุดย่อฉบับภาษาไทย (WHOQOL-BREF-THAI) ผลการศึกษาพบว่า คุณภาพชีวิตโดยรวมของผู้ป่วยกระดูกแขนขาหัก อยู่ในระดับปานกลาง (คะแนนเต็ม 5) คิดเป็นค่าเฉลี่ย 3.07 โดยผู้ป่วยมีระดับคุณภาพชีวิตด้านจิตใจ สูงกว่าด้านสิ่งแวดล้อม ด้านสุขภาพกาย และด้านสัมพันธภาพทางสังคม ตามลำดับ ประเด็นความรู้สึกพอใจที่สามารถทำภารกิจในแต่ละวัน มีระดับค่าเฉลี่ยสูงสุด คิดเป็น 3.23 และประเด็นความพอใจในชีวิตทางเพศมีระดับค่าเฉลี่ยต่ำสุด คิดเป็นคะแนน 2.82 จากการเปรียบเทียบระดับคุณภาพชีวิตจำแนกตามปัจจัยด้านประชากร พบว่า เพศที่ต่างกัน กลุ่มอายุที่ต่างกัน สถานภาพสมรสที่ต่างกัน และจำนวนสมาชิกในครอบครัวที่ต่างกัน มีระดับค่าเฉลี่ยคุณภาพชีวิตโดยรวมแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ( p-value = 0.023, 0.005, < 0.001 และ 0.007 ตามลำดับ ) ปัจจัยด้านเศรษฐกิจและสังคมก็พบว่า ระดับการศึกษา อาชีพ และรายได้ ที่แตกต่างกัน มีระดับค่าเฉลี่ยคุณภาพชีวิตโดยรวมแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ เช่นกัน (p-value < 0.001, < 0.001 และ = 0.007 ตามลำดับ) อย่างไรก็ตาม เมื่อเปรียบเทียบระดับคุณภาพชีวิต จำแนกตามปัจจัยด้านสุขภาพ ได้แก่ ตำแหน่งที่หัก จำนวนชิ้นที่กระดูกหัก วิธีการรักษาที่ได้รับ ระยะเวลาที่นอนโรงพยาบาล พบว่า คุณภาพชีวิตโดยรวมไม่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญ (p-value > 0.05 )
   
ปิดหน้าต่างนี้