บทคัดย่อ

ชื่อเรื่อง : พฤติกรรมการส่งเสริมสุขภาพและการเตรียมตัวเพื่อเข้าสู่วัยสูงอายุที่มีคุณภาพ
โดย : หทัยทิพย์ วิจารณปัญญา
ชื่อปริญญา : วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต
สาขาวิชา : การบริหารบริการสุขภาพ
อาจารย์ที่ปรึกษา : จารุวรรณ ธนวิรุฬห์
คำสำคัญ : พฤติกรรมการส่งเสริมสุขภาพ การเตรียมตัวเพื่อเข้าสู่วัยสูงอายุที่มีคุณภาพ ข้าราชการ ลูกจ้างประจำในโรงพยาบาลประจำจังหวัด
   
การศึกษาครั้งนี้เป็นการวิจัยเชิงสำรวจ แบบพรรณนา เพื่อศึกษาพฤติกรรมการส่งเสริมสุขภาพและการเตรียมตัวเพื่อเข้าสู่วัยสูงอายุที่มีคุณภาพในกลุ่มข้าราชการและลูกจ้างในโรงพยาบาลประจำจังหวัดในเขต 14 ประกอบด้วยจังหวัดอุบลราชธานี ศรีสะเกษ ยโสธร และอำนาจเจริญ โดยเลือกประชากรทั้งหมดที่มีอายุ 55-59 ปีในปีงบประมาณ 2550 จำนวน 237 คน เก็บรวบรวมข้อมูลโดยใช้แบบสอบถาม และวิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติเชิงพรรณนา และการเปรียบเทียบความแตกต่างโดยใช้ t-test วิเคราะห์ความแปรปรวนของข้อมูลโดยใช้ ANOVA (One Way Analysis of Variance) และ Chi - Square ผลการศึกษาพฤติกรรมการส่งเสริมสุขภาพในกลุ่มข้าราชการและลูกจ้าง พบว่า ประชากรทั้ง 2 กลุ่ม มีพฤติกรรมการบริโภคอาหาร และพฤติกรรมการผ่อนคลายความเครียด ปฏิบัติได้อยู่ในระดับสูง ส่วนพฤติกรรมการออกกำลังกายอยู่ในระดับต่ำ คะแนนพฤติกรรมการส่งเสริมสุขภาพด้านการออกกำลังกายของทั้ง 2 กลุ่ม มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p-value=0.00) ส่วนพฤติกรรมการบริโภคอาหาร และพฤติกรรมการผ่อนคลายความเครียด ไม่มีความแตกต่างกันทางสถิติ (p-value>0.05) ผลการศึกษาการเตรียมตัวเพื่อเข้าสู่วัยสูงอายุ พบว่า ประชากรทั้ง 2 กลุ่ม เห็นถึงความสำคัญ และความจำเป็นในการเตรียมตัวเพื่อเข้าสู่วัยสูงอายุอย่างมีคุณภาพ มีการเตรียมตัวด้านเศรษฐกิจ งานอดิเรก ที่อยู่อาศัย ความต้องการให้สังคมช่วยเหลือ แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p-value<0.01) ส่วนการเตรียมตัวด้านร่างกาย จิตใจ และการเป็นสมาชิกกลุ่มสังคม ไม่มีความแตกต่างกันทางสถิติ (p-value>0.05) พบว่าประชากรส่วนใหญ่มีการวางแผนเพื่อเข้าสู่วัยสูงอายุในด้านการเตรียมงานอดิเรกที่มีรายได้เสริม ความต้องการเข้าเป็นสมาชิกของชมรม กลุ่มทางสังคม ชุมชน ต่างๆ และความต้องการการฝึกอาชีพเพิ่มเติม
   
ปิดหน้าต่างนี้