บทคัดย่อ

ชื่อเรื่อง : ปัจจัยที่มีผลต่อพฤติกรรมในการรักษาโรคด้วยสมุนไพรแบบดั้งเดิม ของประชาชนในเขตอำเภอทุ่งศรีอุดม จังหวัดอุบลราชธานี
โดย : ชวลิต โอบอ้วน
ชื่อปริญญา : วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต
สาขาวิชา : การบริหารบริการสุขภาพ
อาจารย์ที่ปรึกษา : นัทที พัชราวนิช
คำสำคัญ : ปัจจัย สมุนไพรแบบดั้งเดิม พฤติกรรม จังหวัดอุบลราชธานี
   
การศึกษานี้ เป็นการวิจัยแบบสำรวจ (Survey Research) ขนาดตัวอย่าง จำนวน 156 ตัวอย่าง มีหน่วยเป็นครัวเรือน มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาปัจจัยที่มีผลต่อพฤติกรรมในการรักษาโรคด้วยสมุนไพรแบบดั้งเดิม เพื่อนำผลการศึกษาไปใช้เป็นแนวทางในการให้ความรู้ประชาชนเกี่ยวกับการรักษาโรคด้วยสมุนไพรแบบดั้งเดิม เก็บรวบรวมข้อมูลโดยใช้แบบสัมภาษณ์ การวิเคราะห์ข้อมูล ใช้สถิติพรรณนา (Descriptive Statistic) และสถิติเชิงวิเคราะห์ (Analytical Statistic) Chi – Square และสถิติสหสัมพันธ์เพียร์สัน (Pearsons Corelation Analysis) ผลการศึกษา พบว่า กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ เป็นเพศชาย (ร้อยละ 62.8) มีอายุ 60 ปีขึ้นไป (ร้อยละ 35.9) สถานภาพสมรสคู่ (ร้อยละ 81.4) การศึกษาระดับประถมศึกษา (ร้อยละ 88.5) อาชีพเกษตรกรรม (ร้อยละ 86.5) รายได้ต่อเดือนต่ำกว่า 5,000 บาท (ร้อยละ 87.8) บุคคลในครัวเรือนมีโรคประจำตัว (ร้อยละ 54.5) มีความรู้เกี่ยวกับสมุนไพรแบบดั้งเดิมอยู่ในระดับสูง (ร้อยละ 83.3) มีทัศนคติเกี่ยวกับสมุนไพรในระดับปานกลาง (ร้อยละ 50.6) อาศัยในหมู่บ้านที่มีแหล่งสมุนไพรน้อย (ร้อยละ 70.5) มีความเห็นว่าราคาสมุนไพรขึ้นกับชนิดของสมุนไพร (ร้อยละ 66.7) มีหมอพื้นบ้านในหมู่บ้าน (ร้อยละ 77.6) และระยะทางจากบ้านถึงที่อยู่หมอพื้นบ้านโดยประมาณไม่เกิน 1 กิโลเมตร มีหมอพื้นบ้านในหมู่บ้านใกล้เคียง (ร้อยละ 56.4) มีระยะทางโดยประมาณถึงหมอพื้นบ้าน 3 กิโลเมตร มีแหล่งหาสมุนไพรตามธรรมชาติในหมู่บ้านเพียง ร้อยละ 26.3 และหมู่บ้านใกล้เคียง ร้อยละ 16.7 มีแหล่งจำหน่ายยาสมุนไพรแบบดั้งเดิมในหมู่บ้านน้อย (ร้อยละ 9.0) และหมู่บ้านใกล้เคียง ร้อยละ 8.3 พบพ่อค้ายาสมุนไพรเร่ขาย (ร้อยละ 54.5) มีปัจจัยเสริมที่ส่งผลต่อพฤติกรรมการใช้สมุนไพรแบบดั้งเดิมในระดับต่ำ (ร้อยละ 45.5) ผลการศึกษาพฤติกรรมการรักษาโรคด้วยสมุนไพรแบบดั้งเดิม พบว่า ส่วนใหญ่ จะรักษา ด้วยสมุนไพรแบบดั้งเดิมเป็นบางครั้ง (ร้อยละ 91.0) ใช้สมุนไพรเมื่อเป็นการเจ็บป่วยเพียงเล็กน้อย (ร้อยละ 91.0) ประเภทยาที่ใช้มากที่สุด คือยาต้ม (ร้อยละ 86.5) รองลงมาคือยาประคบ (ร้อยละ 76.3) และใช้น้อยที่สุด คือ ยาพอก (ร้อยละ 46.2) เมื่อใช้สมุนไพรรักษาโรคจะใช้สมุนไพรอย่างเดียวไม่ใช้ยาแผนปัจจุบันรักษาควบด้วย (ร้อยละ 78.8) กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ ได้สมุนไพรมาจากคนคุ้นเคย (ร้อยละ 75.6) และปลูกไว้ใช้เอง (ร้อยละ 75.0) พฤติกรรมการใช้สมุนไพรแบบดั้งเดิมในภาพรวมอยู่ระดับต่ำ (ร้อยละ 37.8) และระดับสูง (37.2) ใกล้เคียงกัน สำหรับปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับพฤติกรรมการใช้สมุนไพรแบบดั้งเดิม ได้แก่ อาชีพ (P - value = 0.046), ความรู้ (r = 0.198, P-value=0.013), ทัศนคติ (r=0.161, p-value=0.045), การมีแหล่งสมุนไพรในหมู่บ้าน (r = 0.396, P-value=0.000), ระยะทางถึงหมอพื้นบ้านในหมู่บ้าน (r=0.1369, p-value=0.000), ระยะทางถึงแหล่งสมุนไพรตามธรรมชาติในหมู่บ้าน (r=0.225, p-value=0.005) ระยะทางถึงแหล่งสมุนไพรตามธรรมชาติในหมู่บ้านใกล้เคียง (r=0.275, p-value=0.001) ระยะทางถึงแหล่งจำหน่ายสมุนไพรในหมู่บ้านใกล้เคียง (r=0.174, p-value=0.030), จำนวนครั้งที่พบพ่อค้าเร่ขายสมุนไพร ( r= 0.310, p-value =0.000), และปัจจัยเสริม ( r=0.479, p-value=0.000)
   
ปิดหน้าต่างนี้