บทคัดย่อ

ชื่อเรื่อง : การวิเคราะห์ระยะเวลารอดชีวิตของผู้ป่วยมะเร็งรังไข่หลังจากได้รับการรักษาด้วยยาเคมีบำบัด Cisplatin/Cyclophosphamide regimen เปรียบเทียบกับ Carboplatin/Paclitaxel regimen
โดย : วรรณพร วัฒนะวงษ์
ชื่อปริญญา : เภสัชศาสตรมหาบัณฑิต
สาขาวิชา : เภสัชกรรมคลินิกและการบริหาร
อาจารย์ที่ปรึกษา : สัมมนา มูลสาร
คำสำคัญ : มะเร็งรังไข่ชนิด epithelial ระยะเวลาการรอดชีวิต การรักษาด้วยยาเคมีบำบัด
   
วัตถุประสงค์ = เพื่อเปรียบเทียบระยะเวลารอดชีวิตของผู้ป่วยมะเร็งรังไข่หลังจากได้รับการรักษาด้วยยาเคมีบำบัด cisplatin ร่วมกับยา cyclophosphamide (สูตร CP) และ carboplatin ร่วมกับยา paclitaxel (สูตร CT) วิธีวิจัย = เป็นการวิจัยแบบโคฮอร์ตชนิดเก็บข้อมูลย้อนหลัง โดยติดตามผู้ป่วยมะเร็งรังไข่ชนิด epithelial รายใหม่หลังจากผ่าตัดที่ไม่เคยได้รับการรักษาด้วยยาเคมีบำบัดมาก่อน ที่เข้ารับการรักษาต่อด้วยยาเคมีบำบัดที่โรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์และศูนย์มะเร็งจังหวัดอุบลราชธานีในช่วง มกราคม พ.ศ. 2541 ถึง ธันวาคม 2546 จำนวน 135 คน และติดตามผลการรักษาจนกระทั่งผู้ป่วยเสียชีวิตหรือเวลาสุดท้ายที่มารับการรักษาถึงวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2549 วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติ Log Rank test ในการเปรียบเทียบระยะเวลาการรอดชีวิตในแต่ละปัจจัย และใช้สถิติ Cox proportion hazard regression เพื่อประเมินว่าผู้ป่วยที่ใช้ยาทั้ง 2 สูตรนี้มีความแตกต่างกันในความเสี่ยงต่อการตายหรือไม่ หลังจากควบคุมตัวแปรต่างๆที่สำคัญแล้ว ผลการวิจัย = จากผู้ป่วยมะเร็งรังไข่ชนิด epithelial รายใหม่จำนวน 422 คน มีผู้ป่วยที่เข้าตามเกณฑ์การศึกษานี้ จำนวนทั้งสิ้น 135 ราย ซึ่งอายุ สิทธิการรักษาพยาบาล ระยะการดำเนินของโรคและการได้รับยาเคมีบำบัดครบ 6 ครั้งในกลุ่มตัวอย่างทั้ง 2 กลุ่มมีความคล้ายคลึงกัน ระยะเวลาการรอดชีวิตของผู้ป่วยที่ใช้ยาสูตร CP และสูตร CT ไม่แตกต่างกัน (41.28 กับ 44.30 เดือน ตามลำดับ, p-value = 0.80) หลังจากควบคุมตัวต่างปัจจัยๆคือ อายุ อาชีพ ระยะการดำเนินของโรค การได้รับยาเคมีบำบัดครบ 6 ครั้ง และสิทธิการรักษาพยาบาล พบว่าผู้ป่วยที่ได้รับยาเคมีบำบัดทั้งสองสูตรมีความเสี่ยงต่อการตายไม่แตกต่างกัน (HR = 0.99, 95% CI = 0.40-2.44) แต่ปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับความเสี่ยงต่อการตายของผู้ป่วยได้แก่การได้รับยาเคมีบำบัดครบ 6 ครั้งและระยะการดำเนินของโรค โดยจะมีความเสี่ยงต่อการตายน้อยกว่าผู้ป่วยที่ได้รับยาเคมีบำบัดน้อยกว่า 6 ครั้ง (HR = 0.34, 95% CI = 0.17-0.67) และผู้ป่วยที่อยู่ในระยะ Advanced Stage จะมีความเสี่ยงต่อการตายมากกว่าของผู้ป่วยระยะ Early stage (HR = 3.21, 95% CI = 1.5-6.85) สรุปผลการวิจัย = ระยะเวลาการรอดชีวิตในผู้ป่วยมะเร็งรังไข่ชนิด epithelial ที่ได้รับยาเคมีบำบัดสูตร CP เมื่อเปรียบเทียบกับผู้ป่วยที่ได้รับยาเคมีบำบัดสูตร CT ไม่แตกต่างกัน โดยการได้รับยาเคมีบำบัดไม่ครบ 6 ครั้งและผู้ป่วยที่อยู่ในระยะ Advanced Stage จะมีความเสี่ยงต่อการตายเพิ่มขึ้น 3 เท่า
   
ปิดหน้าต่างนี้