บทคัดย่อ

ชื่อเรื่อง : ปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับการปฏิบัติตามกระบวนการวางแผนจำหน่ายผู้ป่วยของพยาบาลวิชาชีพ โรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์ อุบลราชธานี
โดย : ฤดี แก้วคำไสย์
ชื่อปริญญา : วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต
สาขาวิชา : การบริหารบริการสุขภาพ
อาจารย์ที่ปรึกษา : วิภาวี เสาหิน
คำสำคัญ : การวางแผนจำหน่ายผู้ป่วย พยาบาลวิชาชีพ
   
งานวิจัยนี้เป็นการวิจัยเชิงพรรณา เพื่อศึกษาปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับการปฏิบัติตามกระบวนการวางแผนจำหน่ายผู้ป่วยของพยาบาลวิชาชีพ โรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์ อุบลราชธานี กลุ่มตัวอย่างเป็นพยาบาลวิชาชีพทุกคนที่ปฏิบัติงานในหอผู้ป่วยและไม่ได้ปฏิบัติหน้าที่หัวหน้าหอผู้ป่วย โรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์ อุบลราชธานี จำนวน 269 คน เก็บข้อมูลโดยใช้แบบสอบถาม ซึ่งประกอบด้วย 4 ส่วนคือ 1) ข้อมูลทั่วไป 2) การรับรู้บทบาท 3) ปัจจัยสนับ สนุนด้านนโยบาย การบริหารจัดการ การติดตามประเมินผล และ 4) การปฏิบัติตามกระบวนการวางแผนจำหน่าย ผลการวิจัยพบว่ากลุ่มตัวอย่างมีอายุเฉลี่ย 33.55 ปี ระยะเวลาปฏิบัติงานในตำแหน่งพยาบาลวิชาชีพเฉลี่ย 7.74 ปี เคยได้รับการอบรมเรื่องการวางแผนจำหน่ายร้อยละ 80.3 (เฉลี่ย 1.62 ครั้งต่อคน) หอผู้ป่วยที่ศึกษามี จำนวนพยาบาลที่ขึ้นปฏิบัติงานใน 1 วันเฉลี่ย 9.67 คนและร้อยละ 66.2 มีอัตราครองเตียงมากกว่า ร้อยละ 80 มีปัจจัยสนับสนุนด้านนโยบายในระดับปานกลาง การบริหารจัดการในระดับปานกลาง และการติดตามประเมินผลในระดับปานกลาง กลุ่มตัวอย่างมีการรับรู้บทบาทการปฏิบัติตามกระบวนการวางแผนจำหน่ายด้านต่างๆ ดังนี้ ด้านการประเมินปัญหาในระดับมาก ด้านการวินิจฉัยปัญหาในระดับปานกลาง ด้านการวางแผนการจำหน่ายในระดับมาก ด้านการปฏิบัติตามแผนในระดับมากและด้านการติดตามประเมินผลในระดับมาก กลุ่มตัวอย่างมีการปฏิบัติตามกระบวนการวางแผนจำหน่ายผู้ป่วยทุกด้านในระดับปานกลาง ปัจจัยที่มีความสัมพันธ์ทางบวกอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติกับการปฏิบัติตามกระบวนการวางแผนจำหน่ายผู้ป่วย ได้แก่ การรับรู้บทบาทด้านการปฏิบัติ (r = 0.147, p = 0.016) ปัจจัยสนับสนุน ด้านโยบาย การบริหารจัดการและการติดตามประเมินผล (r = 0.394, p < 0.001; r = 0.416, p < 0.001; r = 0.430, p < 0.001; ตามลำดับ) ปัจจัยที่มีความสัมพันธ์ทางลบอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติกับการปฏิบัติตามกระบวนการวางแผนจำหน่ายผู้ป่วย ได้แก่ อัตราการครองเตียง (r = -0.164, p = 0.007) ปัจจัยที่ไม่มีมีความสัมพันธ์กับการปฏิบัติตามกระบวนการวางแผนจำหน่ายผู้ป่วย ได้แก่ระยะเวลาการปฏิบัติงานในตำแหน่งพยาบาลวิชาชีพ การได้รับการอบรมเกี่ยวกับการวางแผนจำหน่าย จำนวนพยาบาลที่ขึ้นปฏิบัติงานและการรับรู้ด้านการประเมินปัญหา การวินิจฉัยปัญหา การวางแผนจำหน่าย และการประเมินผล
   
ปิดหน้าต่างนี้