บทคัดย่อ

ชื่อเรื่อง : ระบาดวิทยาผู้ป่วยอุบัติเหตุจราจรทางบกในโรงพยาบาลยโสธร
โดย : สมจิตร ชื่นตา
ชื่อปริญญา : วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต
สาขาวิชา : การบริหารบริการสุขภาพ
อาจารย์ที่ปรึกษา : ปรีชา บุญจูง
คำสำคัญ : ระบาดวิทยา อุบัติเหตุจราจรทางบก โรงพยาบาลยโสธร
   
การศึกษาระบาดวิทยาของอุบัติเหตุจราจรทางบก ในส่วนที่มารักษาพยาบาลที่โรงพยาบาลยโสธรในช่วงวันที่ 1 กรกฎาคม 2550 ถึง 31 ธันวาคม 2550 จำนวนทั้งสิ้น 597 ราย เก็บข้อมูลโดยการสัมภาษณ์ ผลการศึกษา พบว่า ผู้ป่วยจากอุบัติเหตุจะเป็นเพศชายมากกว่าเพศหญิง ในสัดส่วน 3:2 ผู้ป่วยที่มีช่วงอายุ 10-19 ปี พบมากที่สุดถึงร้อยละ 27.8 อาชีพที่พบมากที่สุด คือ อาชีพนักเรียนนักศึกษาพบร้อยละ 27.2 ผู้ป่วยส่วนใหญ่ถึงร้อยละ 86.4 จบการศึกษาต่ำกว่าระดับปริญญาตรี พบว่า ช่วงเวลาที่เกิดอุบัติเหตุบ่อยที่สุด คือเวลา 16.00 – 20.00 น. พบร้อยละ 34.8 ส่วนวันที่เกิดอุบัติเหตุบ่อยที่สุด คือ วันเสาร์ ร้อยละ 17.8 และเดือนที่เกิดอุบัติเหตุมากที่สุด คือ เดือนพฤศจิกายน พบร้อยละ 28.5 ส่วนสถานที่ที่เกิดอุบัติเหตุ พบว่า สถานที่เกิดอุบัติเหตุส่วนใหญ่อยู่นอกชุมชน พบถึงร้อยละ 44.1 ประเภทถนนที่เกิดเหตุบ่อยที่สุด คือ ถนนลาดยาง พบร้อยละ 47.7 สภาพผิวถนนที่เป็นผิวเรียบจะพบอุบัติเหตุสูงถึงร้อยละ 63.1 สำหรับลักษณะถนนที่พบอุบัติเหตุส่วนใหญ่จะเป็นถนนทางตรง พบถึงร้อยละ 44. 7 ในส่วนของพาหนะ พบว่า พาหนะที่เกิดอุบัติเหตุส่วนใหญ่เป็นรถจักรยานยนต์ พบถึงร้อยละ 80.4 อุบัติเหตุที่เกิดขึ้นเป็นอุบัติเหตุที่ไม่มีคู่กรณี พบร้อยละ 57.1 สำหรับสาเหตุการเกิดอุบัติเหตุ พบว่า สาเหตุที่เกิดจากคนส่วนใหญ่เกิดจากการขับเร็ว พบถึงร้อยละ 41.3 รองลงมาเกิดจากคนขับเมาสุรา (ร้อยละ 33.3) ส่วนสาเหตุจากยานพาหนะ พบมากที่สุด คือสาเหตุจากรถมีสภาพเบรกไม่ดี พบร้อยละ 57.7 ของอุบัติเหตุที่มีสาเหตุจากยานพาหนะ ส่วนพฤติกรรมการป้องกันความปลอดภัย พบว่าผู้ป่วยส่วนใหญ่ร้อยละ 68.6 ไม่ใช้อุปกรณ์ พบผู้ป่วยขับขี่รถยนต์ที่รัดเข็มขัดนิรภัยและผู้ขับขี่จักรยานยนต์ที่สวมหมวกนิรภัย เพียงร้อยละ 28.7 ของผู้ป่วยจากอุบัติเหตุทั้งหมด ในส่วนของผลจากการเกิดอุบัติเหตุ พบว่า มีผู้ได้รับบาดเจ็บร้อยละ 94.1 พิการ ร้อยละ 4.1 และเสียชีวิตร้อยละ 1.8 ส่วนของร่างกายที่ได้รับบาดเจ็บมากที่ ศรีษะ หน้า คอ พบร้อยละ 45.8 ส่วนใหญ่ร้อยละ 70.1 เป็นแผลถลอก ในส่วนของค่าใช้จ่ายในการรักษา ผู้ป่วยร้อยละ 85.8 มีค่าใช้จ่ายต่ำกว่า 5,000 บาท ในขณะที่ค่าใช้จ่ายต่ำสุด และสูงสุด คือ 87 และ 130,990 บาท ตามลำดับ ประเภทการประกันภัยที่ผู้ป่วยใช้ในการรักษา ส่วนใหญ่จะเป็นภาคบังคับ คือ ประกันภัยประเภทที่ 3 กับพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถพบร้อยละ 72.5 นอกจากนี้ ยังพบว่า ปัจจัยด้านอายุและระดับการศึกษา มีความสัมพันธ์กับการเกิดอุบัติเหตุอย่างนัยสำคัญทางสถิติ (p < 0.05)
   
ปิดหน้าต่างนี้