บทคัดย่อ

ชื่อเรื่อง : ปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับพฤติกรรมการคัดแยกขยะติดเชื้อของพยาบาล ในโรงพยาบาลร้อยเอ็ด
โดย : สุดาลักษณ์ โมรัษเฐียร
ชื่อปริญญา : วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต
สาขาวิชา : การบริหารบริการสุขภาพ
อาจารย์ที่ปรึกษา : ระวิวรรณ แก้วอมตวงศ์
คำสำคัญ : พฤติกรรมการคัดแยกขยะ ขยะติดเชื้อ
   
การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อต้องการทราบระดับความรู้ ทัศนคติ และพฤติกรรมตลอดจนความสัมพันธ์ ระหว่าง ความรู้ ทัศนคติ พฤติกรรมการคัดแยกขยะติดเชื้อ ของพยาบาลในโรงพยาบาลร้อยเอ็ด เครื่องมือในการวิจัยเป็นแบบสอบถามที่ผู้วิจัยสร้างขึ้นมาและได้ผ่านการทดลองใช้ โดยวัดค่าความเชื่อมั่นของเครื่องมือทั้งชุดได้ 0.76 เก็บข้อมูลโดยให้กลุ่มตัวอย่างซึ่งเป็นพยาบาลประจำแผนกต่าง ๆ ในโรงพยาบาลร้อยเอ็ดตอบเอง บันทึกข้อมูลในคอมพิวเตอร์ ประมวลผลข้อมูลโดยโปรแกรมสำเร็จรูป SPSS for Windows V. 15 สถิติในการวิเคราะห์ข้อมูลประกอบด้วย ค่าความถี่ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน สถิติวัดความแตกต่างของปัจจัยต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ใช้สถิติ ที (t-test) และสถิติเอฟ (F-test) และสถิติวิเคราะห์ความสัมพันธ์ของปัจจัยต่าง ๆ ใช้ Correlation Coefficient ผลการวิจัยสรุปได้ดังนี้ พยาบาลกลุ่มตัวอย่างเกือบทั้งหมดเป็นเพศหญิง ร้อยละ 97.2 อายุเฉลี่ย 37.39 ปี จบการศึกษาระดับปริญญาตรี ร้อยละ 95.2 ระยะเวลาในพฤติกรรมงานในโรงพยาบาลส่วนมาก 11 ปี ขึ้นไป ร้อยละ 35.1 เคยได้รับการอบรมเกี่ยวกับการกำจัดขยะ 1 ครั้ง ร้อยละ 36.0 มีระดับความรู้และทัศนคติเกี่ยวกับขยะติดเชื้อในภาพรวมโดยเฉลี่ย อยู่ในระดับดีมาก ( = 82.81 และ =3.77 ตามลำดับ) และความรู้และทัศนคติเกี่ยวกับขยะติดเชื้อของพยาบาลโรงพยาบาลร้อยเอ็ด ไม่มีความแตกต่างกัน (p>.05) เมื่อจำแนกตาม เพศชายกับหญิง การเคยผ่านการอบรม กลุ่มอายุที่แตกต่างกัน กลุ่มที่มีการศึกษาที่แตกต่างกัน กลุ่มที่ระยะเวลาที่ปฏิบัติงานในโรงพยาบาลที่แตกต่างกัน กลุ่มที่ผ่านการอบรมเกี่ยวกับการกำจัดขยะติดเชื้อในโรงพยาบาลที่แตกต่างกัน ระดับพฤติกรรมการคัดแยกขยะติดเชื้อของพยาบาลโรงพยาบาลร้อยเอ็ดในภาพรวมโดยเฉลี่ยอยู่ในระดับต่ำ ( =1.90) และพฤติกรรมเฉลี่ยเกี่ยวกับการคัดแยกขยะติดเชื้อของพยาบาลโรงพยาบาลร้อยเอ็ดไม่มีความแตกต่างกัน (p>.05) เมื่อจำแนกตาม เพศชายกับหญิง กลุ่มอายุที่แตกต่างกัน กลุ่มที่มีการศึกษาที่แตกต่างกัน พฤติกรรมการคัดแยกขยะติดเชื้อของพยาบาลโรงพยาบาลร้อยเอ็ด ไม่มีความแตกต่างกัน (p>.05) ยกเว้น กลุ่มที่ผ่านการ อบรมเกี่ยวกับการกำจัดขยะติดเชื้อ 4 ครั้ง มีพฤติกรรมการคัดแยกขยะติดเชื้อต่ำกว่ากลุ่มที่ได้รับการอบรมน้อยกว่า 4 ครั้ง (p-value = .025) พยาบาลที่ปฏิบัติงานในโรงพยาบาลไม่เกิน 1 ปี มีพฤติกรรมการคัดแยกขยะติดเชื้อดีกว่ากลุ่มที่ปฏิบัติงานในโรงพยาบาล มากกว่า 1 ปี (p-value = .008) ความรู้ไม่มีความสัมพันธ์กับพฤติกรรมการคัดแยกขยะ (p>.05) ทัศนคติต่อการคัดแยกขยะติดเชื้อ มีความสัมพันธ์ทางบวกกับพฤติกรรมการคัดแยกขยะติดเชื้อ (r = .136, p-value = .045) ผลจากการวิจัยครั้งนี้ ควรจัดทำคู่มือการปฏิบัติเกี่ยวกับการป้องกันการติดเชื้อจากการปฏิบัติงาน ให้กับพยาบาลในหน่วยงานที่ประจำการทุกโรงพยาบาลโดยเฉพาะแผ่นภาพที่แสดงให้เห็นชัดเจนในหน่วยงาน ควรมีการนิเทศงานติดตามการปฏิบัติการพยาบาลตามหลักการป้องกันการติดเชื้อจากการปฏิบัติงานอย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอ เพื่อเป็นการกระตุ้นให้พยาบาลมีการปฏิบัติจนเกิดเป็นนิสัย และควรตั้งคณะกรรมการดำเนินงานเกี่ยวกับการควบคุมการติดเชื้อภายในโรงพยาบาล รับผิดชอบในการวางนโยบาย เพื่อเป็นแนวทางในการปฏิบัติตามหลักการป้องกันการติดเชื้อจากการปฏิบัติงานของพยาบาลตลอดจนแจ้งนโยบายในการปฏิบัติให้พยาบาลทุกคนทราบ ซึ่งจะช่วยให้พยาบาลทราบนโยบายในการปฏิบัติเป็นไปในทิศทางเดียวกันและคณะกรรมการมีการควบคุม ติดตามอย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอ
   
ปิดหน้าต่างนี้