บทคัดย่อ

ชื่อเรื่อง : ความสัมพันธ์ระหว่างปัจจัยส่วนบุคคลกับพฤติกรรมการป้องกันอุบัติเหตุจากการขับขี่รถจักรยานยนต์ของนักเรียนมัธยมศึกษา โรงเรียนเขื่องในพิทยาคาร อำเภอเขื่องใน จังหวัดอุบลราชธานี
โดย : ชัยวิชิต บุญเทียม
ชื่อปริญญา : วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต
สาขาวิชา : การบริหารบริการสุขภาพ
อาจารย์ที่ปรึกษา : นัทที พัชราวนิช
คำสำคัญ : ความสัมพันธ์ ปัจจัยส่วนบุคคล พฤติกรรมการป้องกันอุบัติเหตุ นักเรียน
   
การศึกษาครั้งนี้เป็นการวิจัยแบบสำรวจ เพื่อศึกษาพฤติกรรมการปฏิบัติตัวเพื่อป้องกันอุบัติเหตุจากการขับขี่รถจักรยานยนต์ และเพื่อศึกษาปัจจัยส่วนบุคคลที่มีความสัมพันธ์กับพฤติกรรมการป้องกันอุบัติเหตุจากการขับขี่รถจักรยานยนต์ของนักเรียนมัธยมศึกษา โรงเรียน เขื่องในพิทยาคาร อำเภอเขื่องใน จังหวัดอุบลราชธานี ทำการสุ่มตัวอย่างโดยใช้การสุ่มแบบง่าย (Simple Random Sampling) โดยวิธีการจับสลาก (Lottery Method) ในกลุ่มตัวอย่างจำนวน 300 ราย โดยใช้แบบสอบถามที่ผ่านการทดสอบความเชื่อมั่นแล้ว (Cronbach’s Alpha Coefficient > 0.80) ผลการศึกษาพบว่า นักเรียนส่วนใหญ่เป็นเพศหญิง (ร้อยละ 65.30) ค่าเฉลี่ยของอายุ น้ำหนักตัว และส่วนสูง คือ 16 ปี 6 เดือน 50.7 กิโลกรัม และ 162 เซนติเมตรตามลำดับ ส่วนใหญ่มีรูปร่างสมส่วน (ค่า BMI เฉลี่ย 18.5 – 24.9) และไม่มีปัญหาทางสายตา (ร้อยละ 96.70) เป็นนักเรียนในระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 มากที่สุด (ร้อยละ 36) ค่าเกรดเฉลี่ยสะสม (GPA) เฉลี่ย 2.95 พักอาศัยอยู่ในเขตอำเภอเขื่องใน (ร้อยละ 99.7) ระยะทางจากที่พักถึงโรงเรียน เฉลี่ย 9.52 กิโลเมตร ร้อยละ 92.7 ของนักเรียนขับขี่รถของครอบครัวมาโรงเรียน โดยร้อยละ 85 ไม่มีใบอนุญาตขับขี่ และร้อยละ 64.3 มีหมวกนิรภัย นักเรียนส่วนใหญ่ขับขี่รถจักรยานยนต์ได้ตั้งแต่อายุ 12.29 ปี ระยะเวลาการขับขี่เฉลี่ย 4.35 ปี โดยใช้ความเร็วเฉลี่ย 55.18 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ในรอบปีที่ผ่านมา นักเรียนร้อยละ 19.30 มีประวัติเคยถูกจับกุมหรือได้รับใบสั่ง สาเหตุส่วนใหญ่ไม่สวมหมวกนิรภัย (ร้อยละ 79.30) นักเรียนส่วนใหญ่ไม่เคยประสบอุบัติเหตุจากการขับขี่รถจักรยานยนต์ (ร้อยละ 78) จากนักเรียนที่เคยประสบอุบัติเหตุ (ร้อยละ 22) พบว่าส่วนใหญ่ประสบอุบัติเหตุ 1 ครั้ง (ร้อยละ 69.7) โดยเป็น ผู้ขับขี่ (ร้อยละ 75.8) ลักษณะของอุบัติเหตุเกิดจากการแฉลบล้มของรถจักรยานยนต์ (ร้อยละ 42.4) เวลาที่เกิดอุบัติเหตุมากที่สุดคือเวลากลางวัน (ร้อยละ 74.2) และมักเป็นอุบัติเหตุที่มีคู่กรณี (ร้อยละ 63.6) ลักษณะการบาดเจ็บเป็นการบาดเจ็บเล็กน้อยทั้งในผู้ขับขี่ (ร้อยละ 75.8) และคู่กรณี (ร้อยละ 64.3) นักเรียนส่วนใหญ่ได้รับความรู้หรือข่าวสารเกี่ยวกับอุบัติเหตุจากการขับขี่รถจักรยานยนต์ (ร้อยละ 88.3) โดยเป็นการได้รับความรู้หรือข่าวสารนาน ๆ ครั้ง (ร้อยละ 51) แหล่งที่ได้รับความรู้หรือข่าวสารมากที่สุดคือจากวิทยุ โทรทัศน์ (ร้อยละ 84.2) ชนิดของความรู้หรือข่าวสารที่ได้รับมากที่สุดเป็นเรื่องเกี่ยวกับการป้องกันอุบัติเหตุ (ร้อยละ 86) นักเรียนร้อยละ 83 ต้องการได้รับข่าวสารความรู้เกี่ยวกับอุบัติเหตุเพิ่มเติม ความรู้ที่ต้องการมากที่สุดคือ การปฏิบัติตัวขณะขับขี่ นักเรียนส่วนใหญ่มีความรู้เกี่ยวกับกฎจราจรอยู่ในระดับสูง (คะแนนเฉลี่ย 16, ร้อยละ 77.70) และมีพฤติกรรมการปฏิบัติตัวเพื่อป้องกันอุบัติเหตุจากการขับขี่รถจักรยานยนต์ในระดับปานกลาง (คะแนนเฉลี่ย 83, ร้อยละ 48.3) จากการศึกษาความสัมพันธ์ พบว่า เพศหญิงมีพฤติกรรมการป้องกันอุบัติเหตุดีกว่า เพศชาย (p–value = < 0.001) นักเรียนที่ศึกษาอยู่ในระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 มีพฤติกรรมการป้องกันอุบัติเหตุดีกว่านักเรียนที่ศึกษาอยู่ในระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 และชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 และนักเรียนที่ศึกษาอยู่ในระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 มีพฤติกรรมการป้องกันอุบัติเหตุดีกว่านักเรียนที่ศึกษาอยู่ในระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 (p–value = 0.049) นักเรียนที่มีGPA สูง มีพฤติกรรมการป้องกันอุบัติเหตุดีกว่านักเรียนที่มี GPA ต่ำ (p–value = < 0.001) นักเรียนที่ใช้รถของตนเองหรือครอบครัวขับขี่เป็นพาหนะ มีพฤติกรรมการป้องกันอุบัติเหตุดีกว่านักเรียนที่ยืมรถผู้อื่นมาใช้ขับขี่ (p–value = 0.021) นักเรียนที่มีใบอนุญาตขับขี่ มีพฤติกรรมการป้องกันอุบัติเหตุดีกว่านักเรียนที่ไม่มีใบอนุญาตขับขี่ (p–value = 0.004) นักเรียนที่สวมหมวกนิรภัย มีพฤติกรรมการป้องกันอุบัติเหตุดีกว่านักเรียนที่ไม่สวมหมวกนิรภัยขณะขับขี่ (p–value = 0.004) นักเรียนที่เริ่มขับขี่เป็นเมื่ออายุมากมีพฤติกรรมการป้องกันอุบัติเหตุดีกว่านักเรียนที่เริ่มขับขี่เป็นเมื่ออายุน้อย (p–value = < 0.001) นักเรียนที่มีประสบการณ์การขับขี่น้อย มีพฤติกรรมการป้องกันอุบัติเหตุดีกว่านักเรียนที่มีประสบการณ์การขับขี่มาก (p–value = 0.004) นักเรียนที่มีความรู้เกี่ยวกับกฎจราจรในระดับสูงมีพฤติกรรมการป้องกันอุบัติเหตุดีกว่านักเรียนที่มีความรู้เกี่ยวกับกฎจราจรในระดับต่ำ (p–value = < 0.001)
   
ปิดหน้าต่างนี้