บทคัดย่อ

ชื่อเรื่อง : สถานะการสูบบุหรี่และความต้องการเลิกสูบบุหรี่ในนักเรียนระดับมัธยมศึกษา และระดับอาชีวศึกษา อำเภอตระการพืชผล จังหวัดอุบลราชธานี
โดย : เอกชัย จรูญเนตร
ชื่อปริญญา : วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต
สาขาวิชา : การบริหารบริการสุขภาพ
อาจารย์ที่ปรึกษา : จารุวรรณ ธนวิรุฬห์
คำสำคัญ : สถานะการสูบบุหรี่ ความต้องการเลิกบุหรี่ นักเรียน
   
การศึกษาครั้งนี้เป็นการวิจัยเชิงสำรวจ (Survey study) แบบภาคตัดขวาง (Cross-sectional study) ในด้านสถานะการสูบบุหรี่และความต้องการเลิกสูบบุหรี่ในนักเรียนระดับมัธยมศึกษา และระดับอาชีวศึกษา อำเภอตระการพืชผล จังหวัดอุบลราชธานี โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) ศึกษาพฤติกรรมการสูบบุหรี่ของนักเรียนระดับมัธยมศึกษาและระดับอาชีวศึกษา 2) ศึกษาระดับการติดบุหรี่และประเมินปัจจัยการเสพติดบุหรี่ของนักเรียนระดับมัธยมศึกษาและระดับอาชีวศึกษา 3) เปรียบเทียบทัศนคติต่อการสูบบุหรี่ในกลุ่มผู้ไม่สูบบุหรี่หรือเลิกบุหรี่แล้ว และในกลุ่มผู้สูบในระดับมัธยมศึกษาและอาชีวศึกษา 4) ศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างข้อมูลทั่วไป ปัจจัยทางสังคมและสิ่งแวดล้อม ทัศนคติต่อการสูบบุหรี่ กับพฤติกรรมการสูบบุหรี่ 5) ศึกษาระดับความต้องการเลิกสูบบุหรี่ในกลุ่มนักเรียนที่ยังสูบบุหรี่ในปัจจุบัน โดยทำการศึกษากลุ่มตัวอย่าง นักเรียนมัธยมศึกษาตอนปลายและวิทยาลัยการอาชีพ ในอำเภอตระการพืชผล จังหวัดอุบลราชธานี ปีการศึกษา 2550 จำนวน 784 คน พบว่านักเรียนทั้งสองกลุ่ม เริ่มสูบครั้งแรกเมื่ออายุระหว่าง 14-16 ปี คิดเป็นร้อยละ 58.97 เหตุผลที่สูบเพราะอยากลองด้วยตนเองร้อยละ 69.23 เคยพยายามเลิกสูบร้อยละ 66.67 สาเหตุที่คิดว่าจะเลิกสูบบุหรี่ได้เพราะสิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายร้อยละ 42.95 การติดสารนิโคตินในบุหรี่อยู่ในระดับน้อย ปัจจัยการเสพติดบุหรี่คือภาวะเสพติดทางจิตใจร้อยละ 26.28 สาเหตุที่ยังสูบอยู่ในปัจจุบันคือ เห็นคนอื่นสูบแล้วอดไม่ได้ร้อยละ 41.33 ทัศนคติเกี่ยวกับการสูบบุหรี่ของนักเรียนทั้งสองกลุ่มเห็นด้วยมากที่สุดว่าการสูบบุหรี่ทำให้เกิดอันตรายต่อคนข้างเคียง ทัศนคติต่อเรื่องการสูบบุหรี่ของกลุ่มที่สูบบุหรี่อยู่ในระดับปานกลาง ร้อยละ 69.87 กลุ่มที่ไม่สูบหรือเคยสูบแต่เลิกแล้วอยู่ในระดับมาก ร้อยละ 72.77 นักเรียนที่ยังสูบบุหรี่ในปัจจุบันทั้งสองกลุ่มเห็นด้วยมากที่สุดคือ ค่าใช้จ่ายในการซื้อบุหรี่สามารถเก็บไว้เป็นค่าใช้จ่ายที่จำเป็นอย่างอื่นได้ ระดับความต้องการเลิกบุหรี่ของกลุ่มผู้สูบบุหรี่ในปัจจุบันต้องการเลิกสูบบุหรี่ในระดับปานกลางร้อยละ 52.00 จากการศึกษาพบว่าปัจจัยส่วนบุคคลที่มีความสัมพันธ์อย่างมีนัยสำคัญกับพฤติกรรมการสูบบุหรี่ของนักเรียนทั้งสองกลุ่ม ได้แก่ เพศ เกรดเฉลี่ย การมีเพื่อนหรือแฟนที่สูบบุหรี่ รายได้ต่อเดือน พฤติกรรมการดื่มเหล้า (p-value<0.001) ส่วนปัจจัยทางสังคมและสิ่งแวดล้อมที่มีความสัมพันธ์อย่างมีนัยสำคัญกับพฤติกรรมการสูบบุหรี่ ได้แก่ สมาชิกในครอบครัวที่สูบบุหรี่ (p-value<0.223) และการอบรมเลี้ยงดูในวัยเด็ก (p-value<0.001)
   
ปิดหน้าต่างนี้