บทคัดย่อ

ชื่อเรื่อง : ความสัมพันธ์ของการรับรู้กราฟภาวะโภชนาการหญิงตั้งครรภ์และเส้นทางลูกรัก กับการฝากครรภ์คุณภาพและน้ำหนักทารกเมื่อแรกคลอด ของผู้มาคลอด ที่โรงพยาบาลชุมชน ในจังหวัดศรีสะเกษ
โดย : เพชรนัย โชติดิลก
ชื่อปริญญา : วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต
สาขาวิชา : การบริหารบริการสุขภาพ
อาจารย์ที่ปรึกษา : จารุวรรณ ธนวิรุฬห์
คำสำคัญ : กราฟภาวะโภชนาการหญิงตั้งครรภ์ เส้นทางลูกรัก การรับรู้ การฝากครรภ์คุณภาพ น้ำหนักทารกแรกเกิด
   
การศึกษาวิจัยครั้งนี้ เป็นการศึกษาวิจัยเชิงสำรวจแบบภาคตัดขวาง (Cross sectional study) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) ศึกษาความสัมพันธ์ของคุณลักษณะส่วนบุคคลของหญิงตั้งครรภ์ กับ การรับรู้เกี่ยวกับกราฟภาวะโภชนาการ และเส้นทางลูกรัก 2) ศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างผลของการรับรู้เกี่ยวกับกราฟภาวะโภชนาการ และ เส้นทางลูกรัก กับ การรับบริการฝากครรภ์ของหญิงตั้งครรภ์และน้ำหนักทารกเมื่อแรกคลอด ประชากรและกลุ่มตัวอย่างได้แก่หญิงมีครรภ์ผู้มาคลอดที่โรงพยาบาลชุมชน ในจังหวัดศรีสะเกษ จำนวน 371 คน เก็บข้อมูลโดยใช้แบบสอบถาม ใช้สถิติวิเคราะห์ ค่าความถี่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และทดสอบความสัมพันธ์ระหว่างปัจจัยส่วนบุคคลกับการรับรู้กราฟภาวะโภชนาการและเส้นทางลูกรักโดยใช้สถิติ t-test และวิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างการรับรู้กราฟภาวะโภชนาการและเส้นทางลูกรักกับการฝากครรภ์คุณภาพและน้ำหนักทารกแรกคลอด โดยใช้สถิติ Pearson’s Correlation Coefficient จากการศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างคุณลักษณะส่วนบุคคลของผู้มาคลอด กับการรับรู้เกี่ยวกับกราฟภาวะโภชนาการ พบว่า ไม่มีความสัมพันธ์กันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับความเชื่อมั่น 95 % พบว่าคุณลักษณะส่วนบุคคลที่สัมพันธ์กับการรับรู้เกี่ยวกับเส้นทางลูกรัก มีเพียงปัจจัยเดียวคือ ระดับการศึกษา โดยผู้ที่มีการศึกษาระดับมัธยมศึกษาขึ้นไป มีความสัมพันธ์ทางสถิติกับการรับรู้เส้นทางลูกรัก ที่ระดับความเชื่อมั่น 95% (t = 2.134, p-value = 0.034) จากการศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างการรับรู้เกี่ยวกับกราฟภาวะโภชนาการหญิงตั้งครรภ์และเส้นทางลูกรักกับการฝากครรภ์ตามเกณฑ์คุณภาพและน้ำหนักทารกแรกเกิด พบว่า การรับรู้เส้นทางลูกรัก กับน้ำหนักทารกเมื่อแรกเกิด มีความสัมพันธ์กันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับความเชื่อมั่น 95 % (r = 0.109, p-value = 0.036) ส่วนปัจจัยอื่นๆ ไม่พบความสัมพันธ์กันทางสถิติที่ระดับความเชื่อมั่น 95 % พบว่าการรับรู้กราฟภาวะโภชนาการและเส้นทางลูกรักไม่มีผลต่อการปฏิบัติ ในการฝากครรภ์ 4 ครั้งคุณภาพ แม้ว่ากลุ่มตัวอย่างจะมีการรับรู้อยู่ในระดับปานกลางก็ตาม นอกจากนี้กลุ่มตัวอย่างยังมีปัญหาเรื่องการรับรู้กราฟภาวะโภชนาการร่วมด้วย
   
ปิดหน้าต่างนี้