บทคัดย่อ

ชื่อเรื่อง : ความสัมพันธ์ระหว่างทัศนคติ การรับรู้บทบาท และการปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุบัติเหตุจราจรทางบกเบื้องต้นของอาสาสมัครกู้ภัย จังหวัดอุบลราชธานี
โดย : อัมพวัน ประดับศรี
ชื่อปริญญา : วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต
สาขาวิชา : การบริหารบริการสุขภาพ
อาจารย์ที่ปรึกษา : สุภารัตน์ คำแดง
คำสำคัญ : ทัศนคติ การรับรู้บทบาท การปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุบัติเหตุจราจร ทางบกเบื้องต้น อาสาสมัครกู้ภัย
   
งานวิจัยเชิงพรรณนานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างทัศนคติ การรับรู้บทบาท และการปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุบัติเหตุจราจรทางบกเบื้องต้นของอาสาสมัครกู้ภัยจังหวัดอุบลราชธานี กลุ่มตัวอย่างเป็นอาสาสมัครกู้ภัยในเขตอำเภอเมือง และอำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี จำนวน 185 คน เก็บข้อมูลระหว่างวันที่ 1-28 กุมภาพันธ์ 2550 โดยใช้แบบสอบถาม วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้ ความถี่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน ทดสอบสมมติฐานโดยใช้สถิติสหสัมพันธ์เพียร์สัน ไคสแควร์ และ การวิเคราะห์ความแปรปรวนทางเดียว ผลการวิจัยพบว่ากลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ได้รับการอบรมการช่วยเหลือผู้ประสบอุบัติเหตุจราจรทางบกเบื้องต้นอย่างน้อย 1 ครั้ง (ร้อยละ 74.7) อาสาสมัครส่วนใหญ่มีทัศนคติโดยรวมในระดับดี (ร้อยละ 84.5) และระดับปานกลาง (ร้อยละ 14.6) การรับรู้บทบาทในระดับไม่ดี (ร้อยละ 81.2) และระดับปานกลาง (ร้อยละ 17.1) การปฏิบัติของอาสาสมัครกู้ภัยในระดับดีและปานกลางเท่ากัน (ร้อยละ 50) เพศ อายุ สถานภาพสมรส ระดับการศึกษา อาชีพ ระยะเวลาเป็นอาสาสมัครกู้ภัย ประสบการณ์เป็นอาสาสมัครกู้ภัย และการได้รับการอบรม ไม่มีความสัมพันธ์กับทัศนคติของอาสาสมัครกู้ภัย แต่อาสาสมัครกู้ภัยที่สังกัดชมรม/มูลนิธิต่างกันมีทัศนคติต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (F= 4.063, p<0.05) ระดับการศึกษามีความสัมพันธ์กับการรับรู้บทบาทของอาสาสมัครกู้ภัยอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (r = 0.006, p<0.05) อายุ ระดับการศึกษา และการได้รับการอบรมมีความสัมพันธ์กับการปฏิบัติของอาสาสมัครกู้ภัยอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (r = 0.021, 0.010 และ 0.013 ตามลำดับ, p<0.05) ทัศนคติมีความสัมพันธ์ในทางบวกกับการรับรู้บทบาทและการปฏิบัติอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (r = 0.400, 0.397 ตามลำดับ, p<0.01) การรับรู้บทบาทมีความสัมพันธ์ในทางบวกกับการปฏิบัติ (r = 0.485, p<0.01)
   
ปิดหน้าต่างนี้