บทคัดย่อ

ชื่อเรื่อง : ภาวะไขมันในเลือดผิดปกติและผลของการให้ความรู้เพื่อการปรับเปลี่ยนวิถีการดำเนินชีวิตต่อภาวะไขมันในเลือดผิดปกติในผู้ติดเชื้อ HIV/AIDs ที่ได้รับยาต้านไวรัส : GPO-VIR S
โดย : นิตยา ดาววงศ์ญาติ
ชื่อปริญญา : เภสัชศาสตรมหาบัณฑิต
สาขาวิชา : เภสัชกรรมคลินิกและการบริหาร
อาจารย์ที่ปรึกษา : น้องเล็ก บุญจูง
คำสำคัญ : ภาวะไขมันในเลือดผิดปกติ HIV/AIDs ยาต้านไวรัส : GPO-VIR S
   
การวิจัยครั้งนี้มี 2 ตอนโดยตอนที่ 1 คือการวิจัยเชิงพรรณนา ณ จุดเวลาใดเวลาหนึ่ง (Cross- sectional descriptive study) เพื่อหาความสัมพันธ์ระหว่างปัจจัยด้านขนาดยา GPO-VIR S, เพศ, อายุ, ดัชนีมวลกาย และระยะเวลาที่รับประทานยาต้านไวรัสกับภาวะไขมันในเลือดผิดปกติของผู้ติดเชื้อ HIV/AIDs ที่ได้รับยาต้านไวรัส : GPO-VIR S ที่คลินิกโรคติดเชื้อ โรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์ อุบลราชธานี ทำการเก็บข้อมูลในช่วงเดือนตุลาคม 2549 จากผลการศึกษาพบว่า ปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับระดับแอลดีแอลโคเลสเตอรอล (LDL-C) และนอนเอชดีแอลโคเลสเตอรอล (non HDL-C) คือขนาดยา GPO-VIR S ( = 24.82, p-value = 0.001,  = 31.03, p-value = 0.011 ตามลำดับ) ส่วนระดับโคเลสเตอรอลรวม ปัจจัยที่มีความสัมพันธ์คือขนาดยา GPO-VIR S ( = 39.91, p-value < 0.001) และระยะเวลาที่รับประทานยา ( = 0.53, p-value = 0.016) สำหรับไขมันเอชดีแอลโคเลสเตอรอล (HDL-C) ปัจจัยที่มีความสัมพันธ์คือเพศ ( = 4.85, p-value = 0.001), ดัชนีมวลกาย ( = -0.62, p-value = 0.012) และระยะ เวลาที่รับประทานยา ( = -0.11, p-value = 0.045) ส่วนระดับไตรกลีเซอไรด์ พบว่าปัจจัยที่มีความสัมพันธ์คืออายุ ( = 0.05, p-value = 0.020), ดัชนีมวลกาย ( = 0.13, p-value = 0.016) และระยะเวลาที่รับประทานยา ( = 0.03, p-value = 0.005) สำหรับการวิจัยตอนที่ 2 คือการวิจัยเชิงทดลองแบบ Randomized Control-Group Pretest-Posttest Designs เพื่อศึกษาผลการให้ความรู้โดยการใช้ความคิดตามแบบแผนความเชื่อด้านสุขภาพ ต่อระดับไขมันในเลือดของผู้ป่วย กลุ่มตัวอย่างคือผู้ติดเชื้อ HIV/AIDs ที่ได้รับยาต้านไวรัส : GPO-VIR S ที่คลินิกโรคติดเชื้อ แผนกผู้ป่วยนอกโรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์ และมีภาวะไขมันในเลือดสูง (Hyperlipidemia) เกิดขึ้น เก็บข้อมูลระหว่างเดือนพฤศจิกายน 2549 - กุมภาพันธ์ 2550 โดยใช้การสุ่มแบบง่ายแบ่งผู้ป่วยเป็น 2 กลุ่มคือกลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุม กลุ่มละ 36 คน กลุ่มทดลองจะได้รับความรู้ตามแบบแผนความเชื่อด้านสุขภาพจำนวน 2 ครั้ง ส่วนกลุ่มควบคุมได้รับการให้สุขศึกษาตามปกติจากเจ้าหน้าที่ที่คลินิกโรคติดเชื้อ ผลการศึกษาพบว่าในระยะติดตามผลครั้งที่ 1 และครั้งที่ 2 โปรแกรมให้ความรู้มีผลทำให้ผู้ป่วยกลุ่มทดลองมีความรู้เกี่ยวกับการรักษาภาวะไขมันในเลือดสูงด้วยการควบคุมอาหารและการปฏิบัติตัวและการรับรู้ด้านสุขภาพ มากกว่าระยะก่อนการทดลองและมากกว่ากลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p-value < 0.001) แต่ในระยะติดตามผลครั้งที่ 1ไม่มีผลทำให้กลุ่มทดลองมีการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการบริโภคอาหารและการออกกำลังกายดีกว่ากลุ่มควบคุม ส่วนในระยะติดตามผลครั้งที่ 2 พบว่าการให้ความรู้ตามแบบแผนความเชื่อด้านสุขภาพมีผลทำให้กลุ่มทดลองมีการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการบริโภคอาหารและการออกกำลังกายดีกว่ากลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p-value =0.048, 0.032 ตามลำดับ) ส่วนพฤติกรรมการสูบบุหรี่ของผู้ป่วยกลุ่มทดลองไม่แตกต่างจากกลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติทั้งในระยะติดตามผลครั้งที่ 1 และครั้งที่ 2 สำหรับระดับไขมันในเลือดของกลุ่มทดลองไม่แตกต่างจากระยะก่อนการทดลองและไม่แตกต่างจากกลุ่มควบคุม จากผลการศึกษาครั้งนี้แสดงให้เห็นว่าโปรแกรมให้ความรู้ที่จัดขึ้นสำหรับกลุ่มทดลองมีผลทำให้กลุ่มทดลองมีการเปลี่ยนแปลงความรู้, การรับรู้ด้านสุขภาพ, พฤติกรรมการบริโภคอาหาร และการออกกำลังกายดีขึ้น แต่ยังไม่สามารถทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงระดับไขมันในเลือดได้ ทั้งนี้เนื่องจากภาวะไขมันในเลือดผิดปกติของผู้ติดเชื้อ HIV/AIDs ที่ได้รับยาต้านไวรัส : GPO-VIR S เป็นอาการข้างเคียงจากยาร่วมด้วย ดังนั้นการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพียงวิธีเดียวอาจไม่เพียงพอในการลดระดับไขมัน ดังนั้นการใช้ยาลดไขมันร่วมด้วยอาจเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่ควรพิจารณา
   
ปิดหน้าต่างนี้