บทคัดย่อ

ชื่อเรื่อง : ปัจจัยที่มีผลต่อการควบคุมค่าการแข็งตัวของเลือดในผู้ป่วยนอกที่ใช้ยาวาร์ฟาริน ณ โรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์
โดย : เด่นใจ บัวทุม รัชนก กรึงไกร อัญมณี ลาภมาก
ชื่อปริญญา : เภสัชศาสตร์บัณฑิต 5 ปี
อาจารย์ที่ปรึกษา : มนชยา ศิริอังคาวุธ จีริสุดา คำสีเขียว พีรวัฒน์ จินาทองไทย
คำสำคัญ : วาร์ฟาริน, ปัจจัย, ควบคุม, International Normalized Ratio (INR)
   
การศึกษานี้เป็นการศึกษาภาคตัดขวางชนิดวิเคราะห์ เพื่อศึกษาปัจจัยที่มีผลต่อการควบคุมค่าการแข็งตัวของเลือดในผู้ป่วยที่ได้รับยาวาร์ฟาริน โดยกลุ่มตัวอย่างคือผู้ป่วยนอกที่ได้รับยาวาร์ฟาริน ในโรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์ ระหว่างเดือนสิงหาคม - ธันวาคม พ. ศ. 2554 ทำการเก็บข้อมูลผู้ป่วยโดยใช้แบบสอบถามร่วมกับข้อมูลจากเวชระเบียน ทำการวิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติเชิงพรรณนาและการวิเคราะห์การถดถอยโลจิสติก จากกลุ่มตัวอย่างจำนวน 100 ราย พบว่าข้อบ่งใช้ของการได้รับยาวาร์ฟารินส่วนใหญ่ ได้แก่ การผ่าตัดเปลี่ยนลิ้นหัวใจ และโรคลิ้นหัวใจผิดปกติ คิดเป็นร้อยละ 48.0 และ 17.0 ตามลำดับโดยร้อยละ 52.0 ต้องการระดับเป้าหมายของค่า INR อยู่ที่ 2.0-3.0 ซึ่งร้อยละ 68.0 ของกลุ่มตัวอย่างมีระดับ INR อยู่ในช่วง 1.8-3.5 ผลการวิเคราะห์การถดถอยโลจิสติกเชิงพหุถึงปัจจัยที่มีผลต่อการควบคุมค่า INR พบว่า สถานะภาพสมรส/หม้าย/หย่าร้าง/แยกทาง มีผลต่อการควบคุมค่า INR อยู่นอกช่วงเป้าหมายเมื่อเทียบกับผู้ที่มีสถานะสมรสแล้ว (OR = 11.219; 95% CI= 1.159-108.591, p = 0.037) ในขณะที่ความถี่ในการนัดพบทุก 2 เดือนมีผลต่อการควบคุมค่า INR ให้อยู่ในช่วงเป้าหมายเมื่อเทียบกับความถี่ในการนัดทุก 1 เดือน (OR = 0.271; 95% CI= 0.075-0.975, p = 0.046) โดยสรุปแล้ว สถานะสมรส/หม้าย/หย่าร้าง/แยกทาง และความถี่ในการนัดพบทุก 2 เดือนเป็นปัจจัยที่มีนัยสำคัญทางสถิติต่อการควบคุมระดับ INR ให้อยู่นอกและในช่วงการรักษาตามลำดับ ผลดังกล่าวสามารถนำมาประยุกต์ใช้ในการพัฒนาการดูแลผู้ป่วยที่ได้รับยาวาร์ฟาริน เพื่อเพิ่มความสำเร็จในการควบคุมระดับ INR ให้ถึงเป้าหมายได้
   
ปิดหน้าต่างนี้