บทคัดย่อ

ชื่อเรื่อง : การค้นหาความคลาดเคลื่อนหลังการจ่ายยา ในงานบริการเภสัชกรรมผู้ป่วยนอกโรงพยาบาลบุรีรัมย์
โดย : ทัดดาว จอมไตรคุป สิริจุฑามาศ โพธิ์ภู วัชรินทร์ เทียมสุวรรณ
ชื่อปริญญา : เภสัชศาสตร์บัณฑิต 5 ปี
อาจารย์ที่ปรึกษา : แสวง วัชระธนกิจ ณัฐวัฒน์ ตีระวัฒนพงษ์ ชัยสิทธิ์ วรรณโพธิ์กลาง
คำสำคัญ : ความคลาดเคลื่อนหลังการจ่ายยา งานบริการเภสัชกรรมผู้ป่วยนอก
   
งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อค้นหาปริมาณความคลาดเคลื่อนหลังการจ่ายยาและจำแนกประเภทความคลาดเคลื่อนที่เกิดขึ้นในงานบริการผู้ป่วยนอก โรงพยาบาลบุรีรัมย์ ทำการสุ่มใบสั่งยาจากผู้ป่วยหลังที่ได้รับยาจากห้องจ่ายยาผู้ป่วยนอกในวันราชการระหว่างวันที่ 3 – 21 ตุลาคม 2554 ช่วงเวลา 10=00 – 12=00 น. เก็บข้อมูลโดยใช้แบบบันทึกความคลาดเคลื่อนหลังการจ่ายยาที่ได้รับการพัฒนาจากงานวิจัยนำร่อง วิเคราะห์ปริมาณและลักษณะความคลาดเคลื่อนหลังการจ่ายยา 13 ประเภทโดยสถิติเชิงพรรณนา จากใบสั่งยาทั้งหมด 256 ใบ พบความคลาดเคลื่อนหลังการจ่ายยาอย่างน้อย 1 ประเภทใน 48 ใบสั่งยา (ร้อยละ 18.75) รวมแล้วมีรายการยาที่คลาดเคลื่อนทั้งหมด 132 รายการ (ร้อยละ 13.00) จาก 1,015 รายการยา จำแนกได้เป็น (1) ได้รับคำแนะนำด้านยาจากเภสัชกรไม่ครบ 38 ใบสั่งยา (ร้อยละ 14.84) (2) จ่ายยาไม่ตรงกับผู้ป่วย 1 ใบสั่งยา (ร้อยละ 0.39) (3) จำนวนขนานยาผิด 1 ใบสั่งยา (ร้อยละ 0.39) เมื่อจำแนกจากรายการยาได้ผลความคลาดเคลื่อนของประเภท (4) รูปแบบยาผิด (5) วิธีใช้ยาผิด (6) จ่ายยาผิดชนิด (7) ยาเสื่อมสภาพหรือหมดอายุ และ (8) บรรจุภัณฑ์ไม่เหมาะสม พบความคลาดเคลื่อนในแต่ละประเภท 1 รายการ (ร้อยละ 0.10) ส่วนความผิดพลาดประเภท (9) จ่ายผิดขนาด และ (10) จ่ายผิดความแรง พบ 2 รายการ (ร้อยละ 0.20) (11) จำนวนยาผิด พบ 8 รายการ (ร้อยละ 0.79) การค้นหาความคลาดเคลื่อนหลังการจ่ายยาในงานบริการเภสัชกรรมผู้ป่วยนอกของโรงพยาบาลบุรีรัมย์ พบใบสั่งยาที่เกิดความคลาดเคลื่อนร้อยละ 18.75 ของใบสั่งยาทั้งหมด หรือคิดเป็นร้อยละ 13.00 ของรายการยาทั้งหมด โดยชนิดความคลาดเคลื่อนที่พบมากที่สุด คือ ได้รับคำแนะนำจากเภสัชกรไม่ครบ (ร้อยละ 14.84)
   
ปิดหน้าต่างนี้