บทคัดย่อ

ชื่อเรื่อง : ฤทธิ์ต้านแซนทีนออกซิเดสของพืชสมุนไพร
โดย : เมธี บัวสาย เพียงหทัย ศรียอด อิทธิชัย รัตนาตรานุรักษ์
ชื่อปริญญา : เภสัชศาสตร์บัณฑิต 5 ปี
อาจารย์ที่ปรึกษา : สุภารัตน์ จันทร์เหลือง
คำสำคัญ : ฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ ฤทธิ์ต้านแซนทีนออกซิเดส พืชสมุนไพร
   
งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อศึกษาฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ และฤทธิ์ต้านแซนทีนออกซิเดส เบื้องต้นของสารสกัดจากสมุนไพร 20 ชนิด โดยการนำสารสกัดจากสมุนไพรมาทดสอบฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระด้วยวิธี 2,2-diphenyl-1 (2,4,6-trinitrophenyl) hydrazyl (DPPH) assay เทียบกับวิตามินซี กรดแกลลิก และเคอร์คูมิน คัดเลือกสมุนไพรที่มีค่า IC50ต่ำกว่า 100.00 ไมโครกรัม/มิลลิลิตร เพื่อนำมาศึกษาฤทธิ์ต้านแซนทีนออกซิเดสในหลอดทดลอง เทียบกับอัลโลพูรินอล (allopurinol) ผลการศึกษาพบว่าสารสกัดสมุนไพรที่มีฤทธิ์ในการต้านอนุมูลอิสระที่ดี (IC50 น้อยกว่า 100 ไมโครกรัม/มิลลิลิตร) ดังนี้ คือ โกฐพุงปลา พลู ทับทิม อบเชย เกสรบัวหลวง เสี้ยวแดง พอก ว่านชักมดลูก แพว ติ้ว จันทร์แดง และลูกจันทร์ ผลการทดสอบฤทธิ์ต้านแซนทีนออกซิเดส พบว่า สมุนไพรที่มีฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์ xanthine oxidase ได้แก่ อบเชย เกสรบัวหลวง พลู แพว และว่านชักมดลูก โดยเทียบกับ ค่าความเข้มข้นของสารทดสอบที่มีฤทธิ์ยับยั้งแซนทีนออกซิเดสสมมูลกับอัลโลพูรินอล 1 ไมโครกรัม/มิลลิลิตร (allopurinol equivalent antixanthine oxidase activity) การศึกษานี้ทำให้พบว่าพืชสมุนไพรหลายชนิดมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระและยับยั้งเอนไซม์แซนทีน ออกซิเดสได้ โดยสมุนไพรบางชนิดควรได้รับการรักษาโรคเกาต์ในสัตว์ทดลองต่อไป
   
ปิดหน้าต่างนี้