บทคัดย่อ

ชื่อเรื่อง : การคัดกรองและประเมินติดตามความพร้อมในการเลิกบุหรี่ของผู้มารับบริการในร้านยา
โดย : จุฬาลักษณ์ เศรษฐฉัตรกุล วาสิฏฐี ตั้งสัตยาธิษฐาน ภัทราวดี กายสำโรง
ชื่อปริญญา : เภสัชศาสตร์บัณฑิต 5 ปี
อาจารย์ที่ปรึกษา : น้องเล็ก คุณวราดิศัย สุภารัตน์ จันทร์เหลือง
คำสำคัญ : บุหรี่ , เภสัชกร
   
การศึกษาเป็นการวิจัยกึ่งทดลองเพื่อศึกษาผลของการคัดกรองและให้คำแนะนำในการเลิกสูบบุหรี่โดยเภสัชกรในร้านยา โดยให้คำปรึกษาและใช้พฤติกรรมบำบัดยึดหลัก “5A” ทำการเก็บข้อมูลตั้งแต่มกราคม – สิงหาคม พ.ศ.2554 กลุ่มตัวอย่างคือผู้มารับบริการที่ร้านยาทั้งชายและหญิงที่มีอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไปและยินดีให้ความร่วมมือ เก็บข้อมูลพฤติกรรมการสูบบุหรี่,จำนวนบุหรี่ที่สูบต่อวัน,ประเมินความพร้อมในของผู้สูบบุหรี่ในการเลิกสูบบุหรี่ รวมทั้งติดตามปัญหาและให้คำแนะนำ ใช้เวลาในการสอบถาม 15-25 นาที และใช้เวลาติดตาม 1 สัปดาห์ ผลการศึกษา พบว่า มีผู้เข้าร่วมการศึกษา 29 คน เป็นเพศชาย 96.60% และเป็นผู้ที่สูบบุหรี่ในปัจจุบัน 95.83% ปริมาณการสูบบุหรี่ต่อวัน คิดเป็น 8.10±5.83 มวนโดยสูบมานานเฉลี่ย 12.28±9.32 ปี มีการติดนิโคตินในระดับน้อย (คะแนนFTND 0-4) 89.66% ผลการติดตามหลังให้คำแนะนำในการเลิกสูบบุหรี่พบว่ามีระดับความพร้อมในการเลิกบุหรี่เปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้น 18 ราย (62.07%) และหลังติดตาม 1 ครั้งเลิกสูบบุหรี่ได้ 1 ราย (4.17%) เมื่อเปรียบเทียบปริมาณการสูบบุหรี่ก่อนและหลังการให้คำแนะนำเฉพาะกลุ่มที่ยังสูบบุหรี่ พบว่า ปริมาณบุหรี่สูบต่อวันหลังให้คำแนะนำต่ำกว่าก่อนให้คำแนะนำอย่างไม่แตกต่างกันทางสถิติ (ปริมาณบุหรี่หลัง = 7.92 และ ก่อน = 8.75, p-value = 0.167) เมื่อเปรียบเทียบความรู้และทัศนคติเกี่ยวกับการเลิกบุหรี่ก่อนและหลังให้คำแนะนำพบว่า คะแนนความรู้หลังได้รับคำแนะนำสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ในขณะที่ทัศนคติไม่แตกต่างกัน (คะแนนความรู้หลัง 8.86±0.50 และ ก่อน 4.93±2.00, p-value < 0.05 และคะแนนทัศนคติหลัง 25.93±1.25 และ ก่อน 25.38±2.50, p-value = 0.172 ตามลำดับ)
   
ปิดหน้าต่างนี้