บทคัดย่อ

ชื่อเรื่อง : ฤทธิ์ต้านออกซิเดชันและฤทธิ์กระตุ้นเอนไซม์ไทโรซิเนสของสารสกัดสมุนไพรพื้นบ้าน บางชนิดเพื่อกระตุ้นการสร้างเม็ดสีสำหรับผมหงอกก่อนวัย
โดย : จิระพรรณ ชมภูวิเศษ ประมูล พันสุวรรณ ศิรินทรา จิบทอง
ชื่อปริญญา : เภสัชศาสตร์บัณฑิต 5 ปี
อาจารย์ที่ปรึกษา : ชุตินันท์ ประสิทธิ์ภูริปรีชา
คำสำคัญ : ฤทธิ์ต้านออกซิเดชัน, ฤทธิ์กระตุ้นเอนไซม์ไทโรซิเนส, สมุนไพรไทยพื้นบ้าน, ผมหงอกก่อนวัย
   
ผมหงอกก่อนวัย เกิดจากสาเหตุได้หลายประการ ปัญหาการเกิดผมหงอกก่อนวัยส่วนหนึ่งอาจเกิดจากการทำลายเซลล์เมลาโนไซท์ด้วยสารอนุมูลอิสระและการลดลงของฤทธิ์ของเอนไซม์ไทโรซิเนส ซึ่งเป็นเอนไซม์ที่ช่วยในการสร้างเม็ดสีเมลานิน งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาฤทธิ์ต้านออกซิเดชัน และฤทธิ์กระตุ้นเอนไซม์ไทโรซิเนสของพืชสมุนไพรที่ภูมิปัญญาพื้นบ้านใช้ในการรักษาผมหงอก ก่อนวัย จำนวน 5 ชนิด คือ บัวบก อัญชัน หม่อน ย่านาง และกวาวเครือขาว ที่สกัดด้วยตัวทำละลาย 4 ชนิด คือ น้ำ, เมธานอล, เอทธิล อะซิเตต และเฮกเซน การทดสอบฤทธิ์ต้านออกซิเดชันทำโดยวิธี DDPH (2,2-diphenyl-1-picrylhydrazyl) radical scavenging assay, FRAP (Ferric reducing antioxidant power) assay และ ABTS (2,2’-Azino-bis (3-ethylbenzothiazoline-6-sulfonic acid)) assay และหาปริมาณสารประกอบฟีโนลิครวม ด้วยวิธี Folin-Ciocalteu assay ผลการวิจัยพบว่าสารสกัดของย่านางด้วยน้ำมีฤทธิ์ต้านออกซิเดชันสูงที่สุดโดยมีค่า EC50 เท่ากับ 53.02 μg/ml (DPPH assay) ค่า FRAP value เท่ากับ588.75+21.8mM (FRAP assay) ค่า TEAC และ VEAC เท่ากับ 1.17+0.14 และ 4.3+0.3 ตามลำดับ(ABTS assay) และมีปริมาณ Total phenolic compound สูงสุดคือเท่ากับ 340+11.41 μg GAE/ml dry mass ส่วนผลการทดสอบฤทธิ์กระตุ้นเอนไซม์ไทโรซิเนส ด้วยวิธี Modified Dopachrome พบว่า สารสกัดด้วยเมธานอลของบัวบกมีฤทธิ์กระตุ้นเอนไซม์ไทโรซิเนสดีที่สุดโดยมีค่า %stimulation เท่ากับ 97.02%
   
ปิดหน้าต่างนี้