บทคัดย่อ

ชื่อเรื่อง : ปัจจัยทางคลินิกที่มีผลต่อการควบคุมระดับ International Normalized Ratio (INR) ในคลินิกผู้ป่วยนอกยาวาร์ฟาริน โรงพยาบาลบุรีรัมย์
โดย : ชนาภา เลิศศิริวรกุล ชุตินันท์ สมบูรณ์ วิภากุล กิติเจริญศักดิ์
ชื่อปริญญา : เภสัชศาสตร์บัณฑิต 5 ปี
อาจารย์ที่ปรึกษา : จารุณี วงศ์วัฒนาเสถียร พีรวัฒน์ จินาทองไทย จีริสุดา คำสีเขียว
คำสำคัญ : ปัจจัยทางคลินิก, วาร์ฟาริน, ผู้ป่วยนอก
   
ยาวาร์ฟารินเป็นยาที่มีดัชนีในการรักษาแคบ และมีหลายปัจจัยที่มีผลต่อการออกฤทธิ์ของ ยาวาร์ฟารินส่งผลให้การควบคุมค่า INR ให้อยู่ในช่วงเป้าหมายทำได้ยาก การศึกษาวิเคราะห์แบบภาคตัดขวางนี้มีขึ้นเพื่อศึกษาถึงปัจจัยทางคลินิกที่มีผลต่อการควบคุมระดับ INR ในกลุ่มผู้ป่วยนอกที่มารับบริการ ณ คลินิกวาร์ฟารินและคลินิกโรคหัวใจ โรงพยาบาลบุรีรัมย์ โดยเก็บข้อมูลผู้ป่วยจากแบบสอบถามร่วมกับประวัติจากเวชระเบียนในระหว่างวันที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2554 ถึง 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติเชิงพรรณนาและการวิเคราะห์การถดถอย โลจิสติก กลุ่มผู้ป่วยที่เข้าร่วมการศึกษามีจำนวนทั้งสิ้น 278 รายอายุเฉลี่ยของกลุ่มผู้ป่วยอยู่ที่ 55.6 ปีข้อบ่งใช้ส่วนใหญ่ของยาวาร์ฟารินคือ โรคลิ้นหัวใจพิการ คิดเป็นร้อยละ 23 ผู้ป่วยส่วนใหญ่ร้อยละ 76.98 ต้องการระดับค่า INR เป้าหมายอยู่ที่ 2.0-3.0โดยมีร้อยละ 60.79 ของผู้ป่วยสามารถควบคุมระดับ INR ให้อยู่ในช่วงเป้าหมายได้ ผลการวิเคราะห์การถดถอยแบบโลจิสติกเชิงพหุถึงปัจจัยทางคลินิกที่มีผลต่อการควบคุมระดับ INR ให้อยู่ในช่วงเป้าหมาย พบว่า ปัจจัยที่ทำให้ค่า INR อยู่นอกช่วงการรักษา ได้แก่ การได้รับยาวาร์ฟารินในขนาดไม่เหมาะสมเมื่อเปรียบเทียบกับการได้รับยาวาร์ฟารินในขนาดที่เหมาะสม (OR = 0.056; 95%Cl= 0.026-0.118,p<0.05) และการไม่ร่วมมือในการใช้ยาเมื่อเปรียบเทียบกับการให้ความร่วมมือในการใช้ยา (OR = 0.179; 95%Cl= 0.079-0.404,p<0.05) โดยสรุปแล้ว ขนาดยาที่ไม่เหมาะสมและความไม่ร่วมมือในการรักษาเป็นปัจจัยทางคลินิกที่มีนัยสำคัญทางสถิติต่อการควบคุมระดับ INR ให้อยู่ในช่วงเป้าหมาย ซึ่งผลการศึกษาดังกล่าวสามารถนำมาใช้เป็นแนวทางในการดูแลผู้ป่วยที่ได้รับยาวาร์ฟารินให้สามารถควบคุมระดับ INR ให้อยู่ในช่วงเป้าหมายมากขึ้นได้ต่อไป
   
ปิดหน้าต่างนี้