บทคัดย่อ

ชื่อเรื่อง : การสำรวจพฤติกรรมสุขภาพของบุคลากรมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
โดย : กรรณิการ์ อัคพิน ทัศนีย์ งามจิตร นิตยา พรหมมา
ชื่อปริญญา : เภสัชศาสตร์บัณฑิต 5 ปี
อาจารย์ที่ปรึกษา : สุวรรณา ภัทรเบญจพล สุทธาสินี สุวรรณกุล
คำสำคัญ : พฤติกรรมสุขภาพ บุคลากรมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
   
จากผลการศึกษาที่ผ่านมาพบว่าบุคคลากรที่มีสุขภาพดีจะสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาพฤติกรรมสุขภาพของบุคลากรของมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี โดยใช้การวิจัยเชิงสำรวจด้วยแบบสอบถามและเก็บข้อมูลระหว่างวันที่ 1-30 กันยายน พ.ศ. 2554 ผลการศึกษาจากกลุ่มตัวอย่าง 238 คน พบว่า กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่เป็นเพศหญิง (61.3 %) มีอายุในช่วง 30-39 ปี (45.8 %) มีดัชนีมวลกายอยู่ในเกณฑ์ปกติ (65.5 %) มีการศึกษาระดับปริญญาตรีหรือสูงกว่า (85.7 %) มีสิทธิในการรับบริการด้านสุขภาพในโครงการประกันสังคม (59.2 %) มีรายได้ต่อเดือนอยู่ในช่วง10,001-20,000 บาท (51.7 %) ไม่มีโรคประจำตัว (61.3 %) และประเมินตนเองว่ามีสุขภาพดีหรือพอใช้ (47.1 %) เมื่อศึกษาพฤติกรรมรายด้านพบว่า กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่รายงานว่า มีพฤติกรรมสุขภาพระดับปานกลางรวม 5 ด้านได้แก่ ด้านความปลอดภัยของผู้ใช้รถใช้ถนน (55.9 %) การจัดการความเครียด (55.9 %) การใช้คอมพิวเตอร์ (54.2 %) การบริโภคอาหาร (50.4 %) และการดูแลสุขภาพ (45.8 %) ในส่วนพฤติกรรมการออกกำลังกายของกลุ่มตัวอย่างอยู่ในระดับต่ำ (41.2 %) นอกจากนี้ประมาณร้อยละสิบของกลุ่มตัวอย่าง มีพฤติกรรมการสูบบุหรี่และเสพสุราในระดับที่ไม่เหมาะสม โดยปัจจัยหลักที่เป็นอุปสรรคต่อการแสดงพฤติกรรมสุขภาพที่เหมาะสม เช่น ข้อจำกัดในการเลือกอาหารให้ถูกหลักโภชนาการ ไม่มีเวลาออกกำลังกาย หรือเหนื่อยล้าจากการทำงาน เป็นต้น นอกจากนี้พบว่ารายได้มีความสัมพันธ์กับพฤติกรรมสุขภาพในด้านบวก อย่างไรก็ตามพบว่าปัจจัยที่เป็นอุปสรรคดังกล่าวเป็นปัจจัยที่บุคคลและมหาวิทยาลัยสามารถปรับปรุงให้ดีขึ้นได้ จากผลการวิจัยครั้งนี้ มหาวิทยาลัยควรส่งเสริมการแสดงออกของพฤติกรรมสุขภาพที่เหมาะสมโดยจัดสภาพแวดล้อมให้เอื้อต่อการออกกำลังกาย และจัดหาอาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพในราคาที่เหมาะสม เพื่อส่งเสริมการมีพฤติกรรมสุขภาพที่ดีอันจะเกิดประโยชน์สูงสุดต่อการพัฒนาองค์กร
   
ปิดหน้าต่างนี้