บทคัดย่อ

ชื่อเรื่อง : การป้องกันการทำลายเซลล์เมลาโนไซท์และฤทธิ์กระตุ้นการสังเคราะห์เมลานินของสารสกัดสมุนไพรไทยพื้นบ้าน ที่ใช้สำหรับผมหงอก
โดย : กฤตติญารัตน์ สมวงศ์
ชื่อปริญญา : วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต
สาขาวิชา : เภสัชเคมีและผลิตภัณฑ์ธรรมชาติ
อาจารย์ที่ปรึกษา : ชุตินันท์ ประสิทธิ์ภูริปรีชา
คำสำคัญ : การสังเคราะห์เมลานิน   เซลล์เพาะเลี้ยง melanoma (B16F10)
   
การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาฤทธิ์กระตุ้นการสังเคราะห์เมลานินของสารสกัดด้วยน้ำ เมทธานอล เอทธิลอะซิเตท และเฮกเซน ของสมุนไพรไทย จำนวน 5 ชนิด คือ อัญชัน ย่านาง บัวบก หม่อน และกวาวเครือขาว โดยศึกษาฤทธิ์ต้านออกซิเดชัน ฤทธิ์ป้องกันเซลล์เมลาโนไซท์   จากสารอนุมูลอิสระไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ ฤทธิ์กระตุ้นการเพิ่มจำนวนของเซลล์เมลาโนไซท์ ฤทธิ์กระตุ้นเอนไซม์ไทโรซิเนส และฤทธิ์กระตุ้นการสร้างเมลานิน ผลการทดสอบฤทธิ์ต้านออกซิเดชัน ด้วยวิธี DPPH assay, ABTS assay และ FRAP assay พบว่า สารสกัดด้วยเมทธานอล และน้ำของย่านาง มีฤทธิ์ต้านออกซิเดชันดีที่สุด โดยมีค่า EC50, VEAC, TEAC และ FRAP value เท่ากับ 61.8 µg/ml, 2.00 mM, 0.77 mM และ 546.9 mM ตามลำดับ และมีปริมาณสารประกอบ       ฟีนอลิกโดยรวม เท่ากับ 82.8 µg GAE/mg ของน้ำหนักผงแห้ง ผลการทดสอบฤทธิ์ป้องกันเซลล์    เมลาโนไซท์จากสารอนุมูลอิสระไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ความเข้มข้น 2 mM ด้วยวิธี MTT assay พบว่า สารสกัดด้วยน้ำของบัวบก ย่านาง และอัญชัน มีฤทธิ์ป้องกันเซลล์ได้ดี โดยมีค่าร้อยละการรอดชีวิต เท่ากับ 89.62%, 83.14% และ 80.62% ตามลำดับ ผลการทดสอบฤทธิ์กระตุ้นการเพิ่มจำนวนของเซลล์เมลาโนไซท์ ด้วยวิธี MTT assay พบว่า สารสกัดด้วยเมทธานอลของอัญชัน สารสกัดด้วยน้ำของย่านาง และสารสกัดด้วยเฮกเซนของบัวบกมีฤทธิ์ที่ดี โดยมีค่าดัชนีการเพิ่มจำนวน เท่ากับ 1.73, 1.59 และ 1.25 ตามลำดับ ผลการทดสอบฤทธิ์กระตุ้นเอนไซม์ไทโรซิเนส ด้วยวิธี tyrosinase activity assay พบว่า สารสกัดด้วยเอทธิลอะซิเตทของย่านาง และบัวบก และสารสกัดด้วยเฮกเซนของอัญชัน มีฤทธิ์ที่ดี โดยมีค่าดัชนีการกระตุ้น เท่ากับ 12.78, 12.72 และ 9.92 ตามลำดับ ในขณะที่ผลการทดสอบฤทธิ์กระตุ้นเอนไซม์ไทโรซิเนสในเซลล์เพาะเลี้ยง ด้วยวิธี DOPA     oxidase activity assay พบว่า สารสกัดด้วยเมททธานอลของอัญชัน และบัวบก และสารสกัดด้วย                 เอทธิลอะซิเตทของย่านาง มีฤทธิ์ที่ดี โดยมีค่าร้อยละ เมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มควบคุม เท่ากับ 157.97, 147.01 และ 144.61 ตามลำดับ ผลการทดสอบฤทธิ์กระตุ้นการสร้างเมลานิน ด้วยการวัดปริมาณ     เมลานิน พบว่า สารสกัดด้วยน้ำของบัวบก และย่านาง และสารสกัดด้วยเอทธิลอะซิเตทของอัญชัน  มีฤทธิ์ที่ดีโดยมีค่าร้อยละ เมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มควบคุม เท่ากับ 231.11, 183.33 และ 166.66 ตามลำดับ และเมื่อทดสอบสารสำคัญเบื้องต้นในพืชพบว่า สมุนไพรส่วนใหญ่ มีสารสำคัญในกลุ่ม alkaloids, anthraquinones, anthrones, coumarines, cardiac glycosides, flavoniod, carotenoid, tannin, xanthone และ cardenolides งานวิจัยนี้สรุปได้ว่าสารสกัดพืชสมุนไพรที่มีฤทธิ์กระตุ้นกระบวนการสังเคราะห์เมลานิน มีศักยภาพในการนำไปพัฒนาให้อยู่ในรูปแบบเวชสำอางสำหรับผมหงอกก่อนวัยได้ในอนาคต คือ สารสกัดด้วยน้ำ เมทธานอล เอทธิลอะซิเตท และเฮกเซนของย่านาง อัญชัน และบัวบก
   
ปิดหน้าต่างนี้