บทคัดย่อ

ชื่อเรื่อง : การศึกษาความชุก ปัจจัยเสี่ยงและแนวทางการรักษาภาวะโซเดียมในเลือดต่ำในผู้ป่วยโรคจิตเภท โรงพยาบาลพระศรีมหาโพธิ์
โดย : ชวรัช ชมภูศรี พรรณปพร พงษ์ผา วชิรญา จำปาวัน
ชื่อปริญญา : เภสัชศาสตร์บัณฑิต 6 ปี
อาจารย์ที่ปรึกษา : ทัดตา ศรีบุญเรือง
คำสำคัญ :

   
บทนำ=ภาวะโซเดียมในเลือดต่ำเป็นปัญหาที่พบได้บ่อยในผู้ป่วยโรคจิตเภท ซึ่งในประเทศไทยยังไม่เคยมีการสำรวจความชุกปัจจัยที่มีความสัมพันธ์ และรูปแบบการรักษามาก่อน วัตถุประสงค์= งานวิจัยนี้เป็นการศึกษาเชิงพรรณนาแบบภาคตัดขวาง เพื่อสำรวจความชุก ปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับภาวะโซเดียมในเลือดต่ำและรูปแบบการรักษาภาวะโซเดียมในเลือดต่ำในผู้ป่วยโรคจิตเภท วัสดุและวิธีดำเนินการวิจัย=กลุ่มประชากรในการศึกษานี้คือผู้ป่วยในโรงพยาบาลพระศรีมหาโพธิ์ ที่ได้รับวินิจฉัยว่าเป็นโรคจิตเภทและมีอายุ15 – 60ปีจำนวน1,666รายโดยสุ่มกลุ่มตัวอย่างแบบอย่างง่าย จำนวน 100รายและใช้ข้อมูลในระหว่างเดือนเมษายน พ.ศ.2554 ถึงเดือนเมษายน พ.ศ.2556 โดยสืบค้นจากเวชระเบียนและฐานข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ของโรงพยาบาล และมีเกณฑ์คัดออก ได้แก่ ผู้ป่วยที่ถูกวินิจฉัยว่ามีภาวะSIADHหรือโรคอื่นที่ส่งผลต่อระดับโซเดียมในเลือด ก่อนเดือนเมษายน พ.ศ. 2554จากนั้นวิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติเชิงพรรณนา ในรูปของร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และวิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างภาวะโซเดียมในเลือดต่ำกับปัจจัยเสี่ยงโดยใช้สถิติทดสอบ ไค-สแควร์ ผลการวิจัย=พบผู้ป่วยที่มีภาวะโซเดียมในเลือดต่ำทั้งหมด 86 ราย คิดเป็นความชุกของภาวะโซเดียมในเลือดต่ำในผู้ป่วยโรคจิตเภท ร้อยละ 5.16 ปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับภาวะโซเดียมในเลือดต่ำอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ได้แก่ การดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์(p-value =0.046) การดื่มเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน(p-value =0.010)และการใช้ยากันชัก(p-value=0.015)และพบว่ามีผู้ป่วยที่มีภาวะโซเดียมในเลือดต่ำที่ไม่ได้รับการรักษาใดๆ37 ราย (ร้อยละ43.02)ได้รับการรักษา 47ราย (ร้อยละ 54.65)และไม่มีข้อมูล 2 รายโดยรูปแบบการรักษา ได้แก่ การให้sodium chloride tablet35/47ราย (ร้อยละ 74.47), การให้สารน้ำที่มีส่วนประกอบของ sodium chloride ทางหลอดเลือดดำ16/47ราย (ร้อยละ34.04), การจำกัดปริมาณน้ำที่ได้รับต่อวัน2/47 ราย (ร้อยละ 4.25), การเพิ่มเกลือในอาหาร 2/47 ราย (ร้อยละ 4.25), ให้เลิกดื่มกาแฟ 1/47 ราย (ร้อยละ 2.13), การเฝ้าสังเกตอาการ1/47 ราย (ร้อยละ 2.13) สรุปผล=ความชุกของภาวะโซเดียมในเลือดต่ำในผู้ป่วยโรคจิตเภท โรงพยาบาลพระศรีมหาโพธิ์ ร้อยละ 5.16โดยมีปัจจัยเสี่ยง ได้แก่ การดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ หรือคาเฟอีน, การใช้ยากันชักและมีเพียง 1 ใน 2 ของผู้ป่วยที่มีภาวะโซเดียมในเลือดต่ำที่ได้รับการรักษาด้วยการชดเชยโซเดียม และ/หรือเฝ้าสังเกตอาการจึงควรมีการกำหนดแนวปฏิบัติในการคัดกรองและรักษาภาวะโซเดียมในเลือดต่ำในผู้ป่วยจิตเภทในอนาคต
   
ปิดหน้าต่างนี้