บทคัดย่อ

ชื่อเรื่อง : การศึกษาเกี่ยวกับชนิดและวิธีการเตรียมสารช่วยยึดเกาะประเภทแป้งต่อยาเม็ดที่เตรียมขึ้นโดยวิธีแกรนูลเปียก
โดย : นิชารัตน์ สิงห์จันทร์ พิมพรรณ พวกพระลับ ภัททิยา เล็บสิงห์
ชื่อปริญญา : เภสัชศาสตร์บัณฑิต 6 ปี
อาจารย์ที่ปรึกษา : ชลลัดดา พิชญาจิตติพงษ์
คำสำคัญ : สารช่วยยึดเกาะ แป้งข้าวโพด แป้งข้าวเหนียว แป้งมันสำปะหลัง แป้งมันฝรั่ง
   
การนำแป้งจากธรรมชาติมาใช้เป็นสารช่วยยึดเกาะในตำรับยาเม็ดเตรียมได้ 2วิธีคือเตรียมเป็นสารละลายยึดเกาะและการเติมในรูปผงแห้ง ซึ่งการเตรียมเป็นสารละลายยึดเกาะมีขั้นตอนการเตรียมที่ใช้เวลานานหากสามารถเตรียมสารยึดเกาะจากแป้งในรูปผงแห้งอาจช่วยลดขั้นตอนและระยะเวลาในกระบวนการผลิตยาเม็ดได้ วัตถุประสงค์= การวิจัยนี้ศึกษาเรื่องวิธีการเตรียมสารช่วยยึดเกาะประเภทแป้งและชนิดของแป้งที่ใช้ในการเตรียมต่อตำรับยาเม็ดที่เตรียมขึ้นโดยวิธีแกรนูลเปียก  วัสดุและวิธีดำเนินการวิจัย=ส่วนแรกเป็นการศึกษาเพื่อหาวิธีการที่เหมาะสมโดยเปรียบเทียบวิธีการนำแป้งข้าวโพดมาเตรียมเป็นสารละลายยึดเกาะกับวิธีการเติมในรูปผงแห้งที่ตามด้วยขั้นตอนการพ่นน้ำที่อุณหภูมิต่างๆจากนั้นนำไปเตรียมยาเม็ดโดยวิธีแกรนูลเปียกและประเมินผลส่วนที่สองเป็นการทดลองเพื่อหาชนิดของแป้งที่เหมาะสมได้แก่แป้งข้าวโพด ข้าวเหนียว มันสำปะหลังและมันฝรั่งยาเม็ดที่ได้นำมาประเมินเพื่อหาค่าการเบี่ยงเบนของน้ำหนัก ความแข็ง ความหนา ความกร่อน การแตกตัว และการละลายของยาเม็ด ผลการวิจัย= พบว่าการเตรียมสารช่วยยึดเกาะจากแป้งข้าวโพด ด้วยวิธีสารละลายยึดเกาะให้ยาเม็ดที่มีลักษณะทางกายภาพที่ดีกว่าการเตรียมในรูปผงแห้งที่ตามด้วยการพ่นน้ำแต่การเติมสารยึดเกาะในรูปผงแห้งและพ่นน้ำที่อุณหภูมิสูง100°Cพบว่าได้ยาที่มีคุณลักษณะที่ดีเช่นกัน โดยยาเม็ดผ่านการประเมินลักษณะทางกายภาพทุกตำรับ ซึ่งตำรับแป้งข้าวเหนียวใช้เวลาในการแตกตัวนานกว่าตำรับอื่น สรุปผล=การเตรียมตำรับยาเม็ดโดยวิธีแกรนูลเปียกโดยใช้สารช่วยยึดเกาะในรูปสารละลายเป็นวิธีการเตรียมที่ได้ลักษณะของเม็ดยาที่ดีซึ่งการเตรียมแป้งข้าวโพดในรูปผงแห้งและพ่นน้ำที่อุณหภูมิ100°C ก็เป็นอีกทางเลือกในการเตรียมตำรับ
   
ปิดหน้าต่างนี้