บทคัดย่อ

ชื่อเรื่อง : การพัฒนาสูตรตำรับไมโครบีดบำรุงผิวจากน้ำมันรำข้าว
โดย : มานิตา มุลผาลา,ณุวรี เวียงอินทร์ และศุภลักษณ์ โฉสูงเนิน
ชื่อปริญญา : เภสัชศาสตร์บัณฑิต 6 ปี
อาจารย์ที่ปรึกษา : จินตนา นภาพร
คำสำคัญ : ไมโครบีด บำรุงผิว น้ำมันรำข้าว โซเดียมแอลจิเนต เพคตินเจลาติน
   
การศึกษานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาตำรับเจลไมโครบีดบำรุงผิวจากน้ำมันรำข้าวโดยการเตรียมน้ำมันรำข้าวในรูปไมโครบีดด้วยวิธีไมโครเอนแคปซูเลชัน การทดลองแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ 1) การพัฒนาไมโครบีด โดยโพลิเมอร์ที่ทำหน้าที่เป็นผนังไมโครบีดประกอบด้วย Sodium alginate , Pectin และ Gelatin ในอัตราส่วนต่างๆ หลังจากนั้นนำไปทดสอบความคงตัวทางกายภาพของไมโครบีดในฟอสเฟตบัฟเฟอร์ ที่ pH 4.5, 5.1, 5.5, 6.1, 6.5 และ 7.0 ที่อุณหภูมิห้อง เป็นเวลา 72 ชั่วโมง 2)การทดสอบชนิดของเจลตัวกลางที่เหมาะสมในการกระจายไมโครบีด โดยการนำไมโครบีดที่ได้จากการศึกษาในส่วนแรกมากระจายในสารก่อเจล 9 ชนิด ได้แก่Carbopol 934, Carbopol 940, Carbopolultrez 10, Carbopolultrez 20, Carbopolultrez 21, Carbopol EDT2020, Methyl Cellulose, Carboxy Methyl Cellulose Sodium 1500 และ HPMC 4000 แล้วทำการประเมินความคงตัวทางกายภาพในสภาวะเร่งที่ 60ºC เป็นเวลา 24 ชั่วโมง ผลการศึกษาพัฒนาไมโครบีด พบว่า เมื่อส่วนผสมระหว่าง Sodium alginate , Pectin และ Gelatin ผ่านทางเข็มลงในสารละลาย Calcium chloride จะเกิดการหุ้มตัวของโพลิเมอร์เป็นไมโครบีดที่มีลักษณะเป็นทรงกลมขึ้น โดยอาศัยหลักการ Ionotropic gelation สูตรตำรับไมโครบีดที่เตรียมได้ทั้งหมดคงตัวได้ดีที่ pH 4.5-6.1 แต่เมื่อ pH สูงกว่า 6.1 จะพบว่า ผนังของไมโครบีดเกิดการพองตัวและเปื่อยยุ่ย โดยสูตรไมโครบีดที่มีความคงตัวมากที่สุดคือ สูตรตำรับที่มี Sodium alginate= Pectin= Gelatin (w/w) เท่ากับ 3=2=2 และ 2.5=2.5=2 เมื่อคัดเลือกสูตรไมโครบีดที่คงตัวมาทำการกระจายในเจลตัวกลาง พบว่า ตำรับที่ใช้Carboxy Methyl Cellulose Sodium 1500 เป็นสารก่อเจล จะได้ตำหรับเจลที่ใส มีความหนืดเหมาะสม สามารถพยุงไมโครบีดให้ลอยในเจลได้ ไมโครบีดยังมีความคงตัวไม่เสียรูปร่างไป ทำให้ได้ตำรับเจลไมโครบีดที่สวยงาม น่าใช้
   
ปิดหน้าต่างนี้