บทคัดย่อ

ชื่อเรื่อง : การอนุรักษ์และพัฒนาสูตรตำรับผลิตภัณฑ์สีผึ้งเพื่อต่อยอดเชิงธุรกิจ
โดย : โสภิตา พงษ์มะลิวัลย์ สุธารัตน์ คำแพงตา
ชื่อปริญญา : เภสัชศาสตร์บัณฑิต 6 ปี
อาจารย์ที่ปรึกษา : บัญชา ยิ่งงาม
คำสำคัญ : สีผึ้ง ไขผึ้ง บาล์ม สีจากธรรมชาติ ความชุ่มชื้น
   
งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่ออนุรักษ์และพัฒนาผลิตภัณฑ์สีผึ้งเพื่อต่อยอดเชิงธุรกิจ โดยการนำรวงผึ้งที่ได้จากฟาร์มเลี้ยงผึ้งท้องถิ่นมาทำการผลิตเป็นไขผึ้ง จากนั้นนำมาตรวจสอบคุณสมบัติด้วยวิธี Fourier transformed infrared spectroscopy (FTIR) และ Differential scanning calorimetry (DSC) ไขผึ้งที่สกัดได้นี้ถูกเลือกให้เป็นสารที่ใช้เป็นส่วนประกอบหลักในตำรับสีผึ้ง โดยผลิตภัณฑ์สีผึ้งต้นแบบที่ผลิตได้มีจำนวนทั้งสิ้น 11 สูตร ได้แก่ สีผึ้งพื้น, สีผึ้งผสมเมนทอล, สีผึ้งผสมกลิ่นผิวส้ม และสีผึ้งผสมสารสกัดพืช (ขมิ้นชัน สุพรรณิการ์ เสาวรส กระเจี๊ยบ บัวหลวง ผำ คำเงาะ และเม่า) จากนั้นทำการคัดเลือกสูตรตำรับโดยใช้วิธีการประเมินความพึงพอใจด้วยประสาทสัมผัสของผู้บริโภค (9-point hedonic scale) จำนวน 10 คน และนำไปทดสอบความชุ่มชื้นของริมฝีปากในอาสาสมัครจำนวน 30 คน จากนั้นทำการออกแบบและพัฒนาบรรจุภัณฑ์ ผลการศึกษาพบว่าไขผึ้งที่สกัดได้มี FTIR spectra และ DSC thermogram คล้ายกับไขผึ้งที่จำหน่ายในท้องตลาด ผลิตภัณฑ์จำนวน 11 สูตรที่พัฒนาขึ้นพบว่าผลิตภัณฑ์ที่มีคะแนนความชอบโดยรวมสูงสุดห้าอันดับแรกคือ สีผึ้งผสมสารสกัดคำเงาะ (8.10±0.99), สีผึ้งผสมสารสกัดเม่าหลวง (8.00±1.25), สีผึ้งผสมกลิ่นผิวส้ม (7.50±1.43), สีผึ้งผสมเมนทอล (6.60±1.43) และสีผึ้งพื้น (6.30±0.95) และเมื่อทำการทดสอบคุณสมบัติการไหลพบว่าผลิตภัณฑ์สามารถคงรูปได้จนถึงอุณหภูมิ 55°C การทาผลิตภัณฑ์สีผึ้งพื้นและสีผึ้งผสมสารสกัดเม่าหลวงสามารถเพิ่มความชุ่มชื้นให้แก่ริมฝีปากได้ภายหลังการทาตั้งแต่นาทีที่ 5 จนถึงนาทีที่ 180 เมื่อเปรียบเทียบกับริมฝีปากที่ไม่ได้ทา ดังนั้นผลิตภัณฑ์สีผึ้งที่พัฒนาขึ้นจึงเป็นผลิตภัณฑ์ที่ช่วยเพิ่มความชุ่มชื้นให้แก่ริมฝีปากได้ นอกจากนี้ยังสามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์สีผึ้งให้มีความหลากหลายได้โดยเตรียมเป็นลิปกลอสและลิปแท่งเพื่อนำไปต่อยอดเชิงธุรกิจได้
   
ปิดหน้าต่างนี้