บทคัดย่อ

ชื่อเรื่อง : การศึกษาฤทธิ์ของสารสกัดสมุนไพรในประเทศไทยในการฆ่าและยับยั้งเชื้อ Acinetobacter baumannii และสายพันธุ์ที่ดื้อยาปฏิชีวนะหลายชนิดที่เป็นสาเหตุของการติดเชื้อในโรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์
โดย : ปริยาพร โพธิ์ศรี เพชรรัตน์ สาเมฆ
ชื่อปริญญา : เภสัชศาสตร์บัณฑิต 6 ปี
อาจารย์ที่ปรึกษา : ธีระพงษ์ มนต์มธุรพจน์ สมหวัง จรรยาขันติกุล
คำสำคัญ : Acinetobacter baumannii, multidrug resistant Acinetobacter baumannii, สารสกัดสมุนไพรไทย, ฤทธิ์ในการฆ่าหรือยับยั้งเชื้อ, วิธีการทดสอบโดยการแพร่ผ่านวุ้น
   
เชื้อ Acinetobacter baumannii (A. baumannii) เป็นเชื้อแบคที่เรียแกรมลบ ที่พบว่าเป็นสาเหตุสำคัญชนิดหนึ่งของการติดเชื้อในโรงพยาบาลและสัมพันธ์กับอัตราการตายที่สูงขึ้น ปัจจุบันพบว่าเชื้อมีความไวต่อยามาตรฐานที่ใช้ในการรักษาลดลง สมุนไพรจึงเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่น่าสนใจเพื่อนำมาพัฒนาเป็นยาที่ใช้ในการรักษา วัตถุประสงค์ของงานวิจัยนี้ เพื่อศึกษาถึงฤทธิ์ของสารสกัดสมุนไพรในประเทศไทยที่สามารถฆ่าหรือยับยั้งเชื้อ A. baumannii และ multi-drug resistant Acinetobacter baumannii (MDR- A. baumannii) และศึกษาผลความไวของยาต้านจุลชีพต่อเชื้อ A. baumannii และ MDR- A. baumannii ณ โรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์ จังหวัดอุบลราชธานี ดำเนินการวิจัยโดยเก็บตัวอย่างเชื้อ A. baumannii ทั้งสองสายพันธุ์ในกลุ่มผู้ป่วยติดเชื้อที่แยกได้จาก เลือด หนอง และเสมหะ จำนวน 60 ตัวอย่าง โดยทำการคัดเลือก 7 สายพันธุ์ ซึ่งมีรูปแบบความไวของยาต้านจุลชีพที่แตกต่างกัน ประกอบด้วย 5 สายพันธุ์ที่เป็น MDR- A. baumannii และ 2 สายพันธุ์เป็น A. baumannii มาทำการทดสอบกับสารสกัดสมุนไพร 10 ชนิด เพื่อหาฤทธิ์ในการฆ่าหรือยับยั้งเชื้อ โดยใช้วิธีการแพร่ผ่านวุ้น (Agar well diffusion method) ในแต่ละหลุมใส่สารสกัดสมุนไพรความเข้มข้น 10 mg/ml ในตัวทำละลาย 10 เปอร์เซ็นต์ปริมาตรต่อปริมาตร dimethyl sulfoxide ปริมาตร 130 ไมโครลิตร จากนั้นนำไปบ่มที่อุณหภูมิ 37 องศาเซลเซียส นาน 20-24 ชั่วโมง ตามวิธีมาตรฐาน CLSI 2012 วัดขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางขอบเขตการยับยั้งที่เกิดขึ้น ผลการวิจัยพบว่า สารสกัดฝางมีค่าขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางขอบเขตการยับยั้งสูงสุด อยู่ระหว่าง 14-17 มิลลิเมตร รองลงมาคือ สารสกัดชา 11-14 มิลลิเมตร เทียบกับชุดควบคุมผลบวกคือ colistin sulfate ความเข้มข้น 0.07 µg/µl ซึ่งมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางขอบเขตการยับยั้งอยู่ระหว่าง 13-17 มิลลิเมตร สำหรับผลการศึกษาความไวของเชื้อดื้อต่อยาต้านจุลชีพพบว่า A. baumannii ยังมีความไวต่อยาที่เป็นมาตรฐานในการรักษาได้แก่ sulbactam, imipenem, meropenem โดยมีความไวมากกว่าร้อยละ 85 ซึ่งตรงข้ามกับ MDR- A. baumannii พบว่ามีความไวต่อยาดังกล่าวลดลง โดยมีความไวเพียงร้อยละ 10-12 สำหรับยา colistin และ tigecycline จากการศึกษานี้ เชื้อทั้งสองสายพันธุ์ยังมีความไวที่ดี แต่อย่างไรก็ตาม MDR- A. baumannii มีร้อยละความไวต่อ tigecycline เพียงร้อยละ 64 สรุปผล สารสกัดของฝางมีฤทธิ์ดีที่สุดในการฆ่าหรือยับยั้งเชื้อ A. baumannii และ MDR- A. baumannii ซึ่งถือว่าเป็นสมุนไพรที่มีศักยภาพสูงที่สามารถนำไปพัฒนาเป็นยาที่ใช้ในการรักษาต่อไปได้ โดยเฉพาะในกลุ่มแบคทีเรียแกรมลบและมีการดื้อต่อยาต้านจุลชีพหลายชนิด
   
ปิดหน้าต่างนี้