บทคัดย่อ

ชื่อเรื่อง : การประเมินผลการติดตามระดับยาในกระแสเลือดของยาที่ทำให้อารมณ์ คงที่ (mood stabilizers) ในผู้ป่วยจิตเวชโรงพยาบาลพระศรีมหาโพธิ์
โดย : กฤตยาพร อยู่พิทักษ์ คุณัญญา สาธุเม อริยา ปาละวงศ์
ชื่อปริญญา : เภสัชศาสตร์บัณฑิต 6 ปี
อาจารย์ที่ปรึกษา : น้องเล็ก คุณวราดิศัย
คำสำคัญ : ยาที่ทำให้อารมณ์คงที่ การติดตามระดับยาในเลือด
   
เนื่องจากร่างกายผู้ป่วยแต่ละคนมีการตอบสนองต่อยาที่แตกต่างกัน การวัดระดับยาในเลือดจึงช่วยให้การปรับขนาดยามีความเหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละราย โดยเฉพาะยาที่มีช่วงการรักษาแคบและมีประสิทธิภาพรวมถึงผลข้างเคียงของยาสัมพันธ์กับระดับยาในเลือด วัตถุประสงค์= การศึกษาแบบภาคตัดขวางนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อประเมินความเหมาะสมของกระบวนการตรวจติดตามระดับยาในเลือด (Therapeutic Drug Monitoring, TDM) ของยากลุ่มที่ทำให้อารมณ์คงที่ (mood stabilizers) ในผู้ป่วยจิตเวช วิธีดำเนินงานวิจัย= เก็บข้อมูลย้อนหลังจากการทบทวนแฟ้มประวัติผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาด้วยยา mood stabilizers และมีการทำ TDM ณ โรงพยาบาลพระศรีมหาโพธิ์ ระหว่างเดือนเมษายน - สิงหาคม พ.ศ. 2556 ประเมินความเหมาะสมของการทำ TDM 2 ประเด็น คือ ข้อบ่งชี้ในการตรวจวัดระดับยาและเวลาในการเก็บตัวอย่างเลือด รวมถึงศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างระดับยาในเลือดที่ภาวะคงที่กับผลการตอบสนองทางคลินิกทั้งด้านผลการรักษาและ ผลไม่พึงประสงค์ ผลการวิจัย= การตรวจติดตามวัดระดับยาในเลือดของยา mood stabilizers จำนวน 89 ครั้ง แบ่งเป็น lithium 14 ครั้ง (ร้อยละ 15.7) valproate 75 ครั้ง (ร้อยละ 84.3) พบว่า ผู้ป่วยบางรายมีข้อบ่งชี้ในการตรวจวัดระดับยามากกว่า 1 ข้อ โดยมีข้อบ่งชี้ที่เหมาะสม 86 ครั้ง (ร้อยละ 96.9) การสั่งตรวจที่ข้อบ่งชี้ไม่เหมาะสม 3 ครั้ง (ร้อยละ 3.3) ข้อบ่งชี้ในการตรวจวัดระดับยาส่วนใหญ่ คือ เมื่อเริ่มการรักษาใหม่หรือปรับขนาดยาผู้ป่วยมีการตอบสนองทางคลินิกไม่ดี ประเมินความร่วมมือในการใช้ยาและสงสัยความเป็นพิษจากยา นอกจากนี้พบว่า ระยะเวลาเก็บตัวอย่างเลือดเหมาะสม 81 ครั้ง (ร้อยละ 91.0) ไม่เหมาะสม 8 ครั้ง (ร้อยละ 9.0) การประเมินระดับยาที่วัดได้พบว่า ระดับยาในเลือดที่อยู่ในระดับ Subtherapeutic range 21ครั้ง (ร้อยละ 23.6) Therapeutic range 59 ครั้ง (ร้อยละ 66.3) Overtherapeutic range 9 ครั้ง (ร้อยละ 10.1) ในส่วนความสัมพันธ์ระหว่างระดับยาในเลือดและผลการตอบสนองทั้งด้านผลการรักษาและผลไม่พึงประสงค์พบว่ามีความสัมพันธ์กัน 49 ครั้ง (ร้อยละ 55.1) ไม่สัมพันธ์กัน 40 ครั้ง (ร้อยละ 44.9) การเปรียบเทียบความแตกต่างของระดับยาในเลือดที่วัดได้กับระดับยาที่ได้จากการคำนวณพบว่า ไม่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (lithium, p – value=0.234; valproate, p – value=0.395) สรุปผล= การติดตามระดับยาในกระแสเลือดอย่างเหมาะสมทั้งด้านข้อบ่งชี้และระยะเวลาในการเก็บตัวอย่างเลือดมีประโยชน์ในการช่วยทำนายผลการรักษาทางคลินิกซึ่งเป็นประโยชน์ต่อผู้ป่วยโดยตรง
   
ปิดหน้าต่างนี้