บทคัดย่อ

ชื่อเรื่อง : การรอดชีวิตของแบคทีเรียโปรไบโอติกที่ผ่านการห่อหุ้มเซลล์เมื่อนำไปเติมในน้ำผักและผลไม้
โดย : พชรพร พาเจริญ และ สกุลรัตน์ นางนวล
ชื่อปริญญา : เภสัชศาสตร์บัณฑิต 6 ปี
อาจารย์ที่ปรึกษา : ผศ.ดร.ศิริมา สุวรรณกูฏ จันต๊ะมา และ ผศ.ดร.เขมวิทย์ จันต๊ะมา
คำสำคัญ : โปรไบโอติก ห่อหุ้มเซลล์ แลคโตบาซิลัส ไบฟิโดแบคทีเรียม น้ำเสาวรส น้ำมะเขือเทศ
   
โดยทั่วไปแบคทีเรียโปรไบโอติกถูกนำไปใช้เป็นส่วนผสมในผลิตภัณฑ์อาหารต่างๆ เช่น โยเกิร์ต,ผลิตภัณฑ์นม,เนยแข็ง เป็นต้น อย่างไรก็ตามปัญหาสำคัญที่พบในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ คือ แบคทีเรียโปรไบโอติกมีอัตราการรอดชีวิตที่ต่ำเมื่อนำไปเติมในผลิตภัณฑ์อาหารจึงมีการนำเทคนิคเอนแคปซูเลชันมาใช้ในการปรับปรุงอัตราการรอดชีวิตของแบคทีเรียโปรไบโอติกในผลิตภัณฑ์อาหาร วัตถุประสงค์= จุดมุ่งหมายของการศึกษานี้คือเพื่อประเมินผลของการห่อหุ้มเชื้อด้วยพอลิเมอร์ต่ออัตราการรอดชีวิตของแบคทีเรียโปรไบโอติกเมื่อนำไปเติมในน้ำมะเขือเทศ และน้ำเสาวรส วิธีดำเนินการวิจัย= ทำการห่อหุ้มเชื้อแบคทีเรียโปรไบโอติกคือ Lactobacillus fermentum สายพันธุ์ LF026 และ Bifidobacterium animalis สายพันธุ์ BF052 โดยใช้วิธีเอ็กซ์ทรูชัน โดยใช้ส่วนผสมของพอลิเมอร์ คือ เพคตินและโซเดียมอัลจิเนต และประเมินอัตราการรอดชีวิตของเชื้อที่ผ่านการห่อหุ้มเซลล์และเชื้อที่ไม่ผ่านการห่อหุ้มในน้ำมะเขือเทศและน้ำเสาวรส เมื่อเก็บไว้ที่อุณหภูมิ 4 องศาเซลเซียส เป็นระยะเวลา 6 สัปดาห์ และทำการนับจำนวนของแบคทีเรียโปรไบโอติกที่รอดชีวิตโดยวิธี spread plate ผลการวิจัย= ผลทดสอบการรอดชีวิตของแบคทีเรียโปรไบโอติกเมื่อเติมลงในน้ำผลไม้พบว่าแบคทีเรีย L.fermentum ที่ผ่านการห่อหุ้มเซลล์มีอัตราการรอดชีวิตในน้ำเสาวรสที่สูงกว่าในน้ำมะเขือเทศโดยมีค่าเฉลี่ยร้อยละการรอดชีวิต เท่ากับ 37.40±2.22 และ31.85±31.25 ตามลำดับ ซึ่งจากผลการศึกษาพบว่าการห่อหุ้มเซลล์ของแบคทีเรีย L.fermentum สามารถเพิ่มอัตราการรอดชีวิตในมะเขือเทศและน้ำเสาวรสได้เล็กน้อยในช่วงสัปดาห์แรก สำหรับความคงตัวของเชื้อ B.animalis พบว่าการรอดชีวิตของเชื้อที่ผ่านการห่อหุ้มเซลล์สูงกว่าเชื้อที่ไม่ผ่านการได้ทำการห่อหุ้มเซลล์ในช่วงระยะเวลาการเก็บรักษา14 วันแรก โดยเชื้อที่ผ่านการห่อหุ้มมีค่าร้อยละการรอดชีวิตสูงกว่า ร้อยละ 50 ในขณะที่ B.animalis ที่ผ่านการห่อหุ้มเซลล์ไม่คงตัวในน้ำเสาวรสซึ่งมีอัตราการรอดชีวิตต่ำกว่าเชื้อที่ไม่ได้ห่อหุ้มเซลล์ สรุปผลการวิจัย= การห่อหุ้มเซลล์แบคทีเรีย L.fermentum สายพันธุ์ LF026 และ B.animalis สายพันธุ์ BF052 ด้วยพอลิเมอร์ผสมระหว่างเพคตินและโซเดียมอัลจิเนตสามารถเพิ่มอัตราการรอดชีวิตในน้ำมะเขือเทศได้เล็กน้อยอย่างไรก็ตามการห่อหุ้มเซลล์แบคทีเรีย B.animalis ไม่สามารถเพิ่มอัตราการรอดชีวิตของเชื้อในน้ำเสาวรสได้ดังนั้นควรทำการศึกษาเพิ่มเติมถึงชนิดของพอลิเมอร์และวิธีการห่อหุ้มเซลล์ที่เหมาะสมเพื่อให้มีอัตราการรอดชีวิตที่สูงขึ้นในผลิตภัณฑ์
   
ปิดหน้าต่างนี้