บทคัดย่อ

ชื่อเรื่อง : การศึกษาฤทธิ์ของสารสกัดจากเห็ดต่อกระบวนการต้านอักเสบ
โดย : วชิรวิทย์ วัชราคม และสิริวรรณ ลิ้มฉุ้น
ชื่อปริญญา : เภสัชศาสตร์บัณฑิต 6 ปี
อาจารย์ที่ปรึกษา : อ. ไพจิตร ศรีธนานุวัฒน์ และ ผศ.ดร.อุษณา พัวเพิ่มพูลศิริ
คำสำคัญ : L. edodes, P. ostreatus, P.pulmonarius, U937 cell line,TGF-β, TNF-α, macrophage, inflammation
   

บทคัดย่อ


บทนำ=การอักเสบ (Inflammation) คือปฏิกิริยาตอบสนองของระบบภูมิคุ้มกันต่อการบาดเจ็บหรือการกำจัดสิ่งแปลกปลอม ซึ่งอาจนำไปสู่การเกิดโรคที่มีผลต่อคุณภาพชีวิต เช่น เก๊าท์ ข้ออักเสบรูมาตอยด์ ฯลฯ ปัจจุบันมีการวิจัยเห็ดหลายสายพันธุ์พบว่ามีฤทธิ์ต้านอักเสบจึงเป็นที่มาของการศึกษากลไกและฤทธิ์ต้านการอักเสบในเห็ดที่ใช้บริโภคเพื่อเป็นข้อมูลสำหรับพัฒนาเป็นอาหารเสริมสุขภาพหรือยาต่อไป วัตถุประสงค์ของการวิจัย=ศึกษาฤทธิ์ต้านการอักเสบของสารสกัดเห็ดหอม (L. edodes) เห็ดนางฟ้า (P. pulmonarius) และเห็ดนางรม (P. ostreatus) ในเซลล์เม็ดเลือดขาว วัสดุและวิธีดำเนินการวิจัย=ทดสอบหาความเข้มข้นและระยะเวลาที่เกิดพิษต่อเซลล์เม็ดเลือดขาว (U937 cell)ของสารสกัดเห็ดในชั้นน้ำที่ความเข้มข้น 1.87, 3.75, 7.5, 15, 30, 60,  และ 120 µg/ml และชั้น CHCl3=CH3OH ที่ความเข้มข้น 30, 60, 120 และ 240 µg/ml โดยวิธีMTT assay และเปรียบเทียบการแสดงออกของยีนที่เกี่ยวของกับกระบวนการกระตุ้นอักเสบได้แก่ TNF-α การเปลี่ยนแปลงเซลล์แมคโครฟาจ ได้แก่ IRF5 และการต้านการอักเสบ ได้แก่ TGF-βด้วยวิธี real time PCR ผลการวิจัย=การทดสอบความเป็นพิษของสารสกัดในชั้นน้ำของเห็ดหอม เห็ดนางฟ้าและเห็ดนางรมต่อเซลล์ U937 พบว่าที่เวลา48ชั่วโมงเห็ดนางฟ้าและเห็ดนางรมที่ความเข้มข้น120 µg/ml มีจำนวนเซลล์ลดลงอย่างมีนัยสำคัญที่ P<0.05 ที่เวลา 72 ชม. เห็ดนางฟ้าและเห็ดนางรมความที่เข้มข้นมากกว่า 60 และ 7.5 µg/ml ตามลำดับ มีจำนวนเซลล์ลดลงอย่างมีนัยสำคัญที่ P<0.05 โดยไม่พบการลดลงของเซลล์ในสารสกัดเห็ดหอมการทดสอบความเป็นพิษของสารสกัดในชั้น CHCl3=CH3OH ที่เวลา 48 ชั่วโมง พบว่าสารสกัดเห็ดหอมความเข้มข้น 240 µg/ml มีจำนวนเซลล์ลดลงอย่างมีนัยสำคัญที่ P<0.05 และที่เวลา 72 ชั่วโมง ไม่พบการลดลงเซลล์ในสารสกัดของเห็ดหอม เห็ดนางฟ้าและเห็ดนางรมฤทธิ์ต้านการอักเสบในเซลล์ U937 เมื่อทดสอบด้วยสารสกัดเห็ดในชั้นน้ำความเข้มข้น 30 µg/ml เป็นเวลา 48 ชั่วโมงพบว่าสารสกัดเห็ดหอมมีปริมาณ mRNA ของยีน TNF-α, IRF5 และTGF-β เป็น 0.79 , 3.18 และ 7.97 สารสกัดเห็ดนางฟ้ามีการแสดงออกของยีน เป็น 3.06 , 12.77 และ 2.29 และสารสกัดเห็ดนางรมมีการแสดงออกของยีนเป็น 0.53 , 82.71 และ 17.27 เท่าเมื่อเทียบกับกลุ่มควบคุม สรุปผล=จากผลการศึกษาความเป็นพิษต่อเซลล์เม็ดเลือดขาวพบว่าสารสกัดเห็ดในชั้นน้ำที่เวลา 72 ชม. เห็ดนางรมมีความเป็นพิษสูงสุดเมื่อเทียบกับเห็ดทั้ง 3 ชนิด เนื่องจากความเข้มข้นที่ทำให้เกิดพิษต่ำสุด และที่เวลา 48 ชม. เห็ดนางฟ้าและเห็ดนางรมมีความเป็นพิษมากกว่าเห็ดหอม สำหรับสารสกัดเห็ดในชั้น CHCl3=CH3OH ที่เวลา 48 และ 72 ชม. ทุกความเข้มข้นไม่มีความเป็นพิษต่อเซลล์ ยกเว้นเห็ดหอมความเข้มข้น 240 µg/ml ที่เวลา 48 ชม. และเมื่อเปรียบเทียบฤทธิ์ต้านการอักเสบของสารสกัดเห็ดในชั้นน้ำทั้งสามชนิด พบว่าไม่มีผลต่อการเปลี่ยนชนิดของเซลล์เม็ดเลือดขาว โดยที่เห็ดนางรมน่าจะมีฤทธิ์ต้านการอักเสบสูงสุดเนื่องจากมีการแสดงออกของยีน TNF-α ลดลงและ TGF-β เพิ่มขึ้น

   
ปิดหน้าต่างนี้