บทคัดย่อ

ชื่อเรื่อง : การศึกษาวิธีการสกัดสารกลูแคนจากเห็ดป่าที่ใช้บริโภคใน จังหวัดอุบลราชธานี
โดย : นางสาวเขมิกา สาธุรัมย์ และ นางสาวปภาดา นันทิยกุล
ชื่อปริญญา : เภสัชศาสตร์บัณฑิต 6 ปี
อาจารย์ที่ปรึกษา : รศ.ดร. ระวิวรรณ แก้วอมตวงศ์ และ ผศ.ดร. สุภารัตน์ จันทร์เหลือง
คำสำคัญ : กลูแคน เห็ดป่าที่ใช้บริโภค
   
กลูแคน เห็ดป่าที่ใช้บริโภค การศึกษานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาวิธีการสกัดสารกลูแคนจากเห็ดที่ใช้บริโภคในจังหวัดอุบลราชธานีและเปรียบเทียบปริมาณสารกลูแคนจากการสกัดโดยวิธีต่างๆ โดยทำการศึกษาโดยนำตัวอย่างเห็ด 3 ชนิด คือ เห็ดซิ่น เห็ดพุงหมู และเห็ดหำฟาน ที่ผ่านการทำให้แห้งด้วยเครื่องระเหยเยือกแข็ง มาสกัดด้วยน้ำร้อนธรรมดา และสกัดด้วยวิธีที่เป็นขั้นตอนที่ประกอบด้วย น้ำเย็น น้ำร้อน สารละลายด่างเย็น และสารละลายด่างร้อน และหาปริมาณสารกลูแคนด้วยวิธี ฟีนอลซัลฟูริก การศึกษาพบว่าในขั้นตอนการสกัดด้วยน้ำร้อนของเห็ดซิ่นให้ปริมาณสารกลูแคนมากที่สุด เท่ากับ 18.20 ± 0.95 mg/g ในตัวอย่างที่เก็บครั้งที่ 1 และ 17.49 ± 0.53 mg/g ในตัวอย่างที่เก็บครั้งที่ 2 ส่วนการสกัดด้วยน้ำร้อนธรรมดาของเห็ดพุงหมูให้ปริมาณสารกลูแคนมากที่สุด เท่ากับ 47.72 ± 0.48 mg/g ในตัวอย่างที่เก็บครั้งที่ 1 และ 46.14 ± 1.51 mg/g ในตัวอย่างที่เก็บครั้งที่ 2 ส่วนในขั้นตอนการสกัดด้วยสารละลายด่างเย็นของเห็ดหำฟานในตัวอย่างที่เก็บครั้งที่1 ให้ปริมาณสารกลูแคนมากที่สุด เท่ากับ 15.17 ± 0.33 mg/g แต่ในขั้นตอนการสกัดด้วยน้ำเย็นของเห็ดหำฟานในตัวอย่างที่เก็บครั้งที่ 2 ให้ปริมาณกลูแคนมากที่สุด เท่ากับ 20.95 ± 0.29 mg/g ผลที่ได้จากการศึกษาครั้งนี้เป็นข้อมูลในการเลือกใช้วิธีการสกัดให้เหมาะสมกับเห็ดป่าที่ใช้บริโภคแต่ละชนิด
   
ปิดหน้าต่างนี้