บทคัดย่อ

ชื่อเรื่อง : การศึกษาพฤกษเคมีของราเอนโดไฟต์ในปลาไหลเผือก
โดย : อรพรรณ สัตยพานิช และ นิรมล จำปา
ชื่อปริญญา : เภสัชศาสตร์บัณฑิต 6 ปี
อาจารย์ที่ปรึกษา : ดร.กุสุมา จิตแสง และ ผศ.ดร.ทวีศักดิ์ จึงวัฒนตระกูล
คำสำคัญ : ปลาไหลเผือก, ราเอนโดไฟต์, ฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรีย, สารกลุ่มอัลคาลอยด์, สารกลุ่มควาสสินอยด์
   
ปลาไหลเผือกที่เป็นสมุนไพรพื้นบ้านอีสานที่มีฤทธิ์ทางชีวภาพหลากหลาย การใช้ประโยชน์จากปลาไหลเผือกทำให้ต้องขุดรากถอนโคนซึ่งเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ การแยกเชื้อราเอนโดไฟต์ที่สามารถผลิตสารเช่นเดียวกับปลาไหลเผือกสามารถใช้เป็นแหล่งผลิตภัณฑ์ธรรมชาติทดแทน วัตถุประสงค์= เพื่อแยกเชื้อราเอนโดไฟต์จากปลาไหลเผือก ศึกษาหากลุ่มสารออกฤทธิ์ยับยั้งเชื้อแบคทีเรียของสารสกัดจากเชื้อราเอนโดไฟต์ที่แยกได้ วิธีดำเนินการวิจัย= เก็บตัวอย่างปลาไหลเผือกใหญ่จากบริเวณแก่งตะนะ จังหวัดอุบลราชธานี แยกเชื้อราเอนโดไฟต์โดยใช้วิธีการฆ่าเชื้อที่ผิว และทำการแยกเชื้อราให้บริสุทธิ์ด้วยวิธีการใช้เข็มเขี่ยส่วนเส้นใยมาเพาะลง PDA จากนั้นศึกษาลักษณะการเจริญของเชื้อราบน PDA แล้วนำมาวิเคราะห์องค์ประกอบทางเคมีเบื้องต้นของสารสกัดที่ได้จากเชื้อราเอนโดไฟต์โดยใช้วิธี Thin layer Chromatography (TLC) และทดสอบฤทธิ์ยับยั้งเชื้อแบคทีเรียโดยใช้วิธี Disc diffusion ผลการวิจัย= สามารถแยกเชื้อราเอนโดไฟต์ได้ทั้งสิ้น 20 ไอโซเลท (EL01-20) ผลการทดสอบฤทธิ์ยับยั้งเชื้อแบคทีเรียพบว่า สารสกัดที่สามารถยับยั้งเชื้อ Escherichia coli ได้แก่ EL20C และ EL20M เชื้อ Staphylococcus aureus ได้แก่ EL05M เชื้อ Pseudomonas aeruginosa ได้แก่ EL05M, EL07M, EL09M และ EL14M จากการทดสอบพฤกษเคมีเบื้องต้นของสารสกัดทั้งหมดพบสารกลุ่มอัลคาลอยด์และสารกลุ่มควาสสินอยด์แต่ไม่ใช่สารชนิดที่พบในปลาไหลเผือก สรุปผลการวิจัย= ราเอนโดไฟต์ที่แยกได้จากปลาไหลเผือกสามารถแสดงฤทธิ์ยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อแบคทีเรียได้ โดยสามารถตรวจพบสารกลุ่มอัลคาลอยด์และสารกลุ่มควาสสินอยด์ในสารสกัด โดยสารที่แสดงฤทธิ์ยับยั้งเชื้อแบคทีเรียอาจจะไม่ใช่สารชนิดเดียวกันกับที่พบในปลาไหลเผือก
   
ปิดหน้าต่างนี้