บทคัดย่อ

ชื่อเรื่อง : การจัดทำฐานข้อมูลสมุนไพรที่ใช้ในตำรายาอีสาน ระยะที่ 2
โดย : ศุภชัย ศรีมันตะ และ อธิบดี ศักดิ์ศินานนท์
ชื่อปริญญา : เภสัชศาสตร์บัณฑิต 6 ปี
อาจารย์ที่ปรึกษา : ผศ.ดร.ทวีศักดิ์ จึงวัฒนตระกูล และ ดร.กุสุมา จิตแสง
คำสำคัญ : ฐานข้อมูลสมุนไพรตำรายาโบราณอีสาน
   
การแพทย์พื้นบ้านอีสานมีความโดดเด่นและเป็นเอกลักษณ์ สะท้อนถึงโรคที่พบในท้องถิ่น และการใช้ประโยชน์จากพืชเฉพาะถิ่น ตำรายาพื้นบ้านอีสานถูกรวบรวมและบันทึกไว้ด้วยภาษาพื้นบ้านซึ่งยากแก่การเข้าใจและเป็นอุปสรรคในการนำองค์ความรู้ดั้งเดิมนี้ไปศึกษาต่อยอด การศึกษานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ ถอดความตำรายาอีสานเป็นภาษาไทยกลาง ศึกษารวบรวมและจัดระเบียบข้อมูลสมุนไพร ให้อยู่ในรูปแบบที่เข้าใจง่าย เพื่อจัดทำฐานข้อมูล โดยศึกษาจากตำรายาโบราณอีสาน ที่รวบรวมโดย ดร. ปรีชา พิณทอง 2 กลุ่มโรค คือ ตำรับยาไข้หมากไม้ และ ตำรับยาโรคเลือด โดยแสดงข้อมูลชื่อสมุนไพรในตำรายาอีสาน ชื่อกลาง ชื่อสามัญ ชื่อวิทยาศาสตร์ ชื่อวงศ์ และสรรพคุณในตำรำยา และจัดทำพรรณไม้อ้างอิง ผลการศึกษาจากตำรับยา1,011 ตำรับ แบ่งเป็น ตำรับยาไข้หมากไม้ 626 ตำรับและตำรับยาโรคเลือด 385 ตำรับ พบว่า กลุ่มตำรับยาไข้หมากไม้ มีการใช้สมุนไพร 1,040 ชนิด ในจำนวนนี้เป็นพืชสมุนไพรจำนวน 794 ชนิด จาก 126 วงศ์ และส่วนประกอบที่ไม่ใช่พืชจำนวน 246 ชนิด พืชสมุนไพรที่พบความถี่ในการใช้สูงสุด 5 อันดับแรกได้แก่ ย่านาง อ้อยดำ ผักหวานบ้าน หมาน้อย ข้าวจ้าว กลุ่มตำรับยาโรคเลือด มีการใช้สมุนไพร 505ชนิด เป็นพืชสมุนไพร 453 ชนิด จาก 105 วงศ์ และส่วนประกอบที่ไม่ใช่พืชจำนวน 52 ชนิด พืชสมุนไพรที่พบความถี่ในการใช้สูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ ขิง กระเทียม พริกไทย พริก ปีปปลีแดง และมีการเก็บตัวอย่างพรรณไม้แห้งจำนวน 40 ชนิด การศึกษาครั้งนี้เป็นประโยชน์ในการใช้เป็นข้อมูลเพื่อการพัฒนาฐานข้อมูลพืชสมุนไพรอีสานต่อไปและเป็นข้อมูลในการต่อยอดการค้นคว้าตำรายาที่ใช้ในการรักษาโรคที่พบในท้องถิ่น
   
ปิดหน้าต่างนี้