บทคัดย่อ

ชื่อเรื่อง : การประเมินศักยภาพโปรไบโอติกของแบคทีเรียกรดแลคติคที่แยกได้จากปลาส้ม
โดย : วราวุธ วิโรพรม และวีรยา ศรีสุริยชัย
ชื่อปริญญา : เภสัชศาสตร์บัณฑิต 6 ปี
อาจารย์ที่ปรึกษา : ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ศิริมา สุวรรณกูฏ จันต๊ะมา และ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. เขมวิทย์ จันต๊ะมา
คำสำคัญ : โปรไบโอติก,แบคทีเรียกรดแลคติค,ปลาส้ม
   
โปรไบโอติกเป็นเชื้อจุลินทรีย์ที่มีชีวิตและมีประโยชน์ต่อร่างกาย โดยสามารถปรับสมดุลของจุลินทรีย์ในร่างกาย วัตถุประสงค์= เพื่อประเมินศักยภาพโปรไบโอติกของแบคทีเรียกรดแลคติคที่แยกได้จากปลาส้ม วิธีดำเนินการวิจัย= เก็บตัวอย่างปลาส้มจากตลาดในเขตอำเภอวารินชำราบและอำเภอเมืองอุบลราชธานี เพื่อทำการแยกแบคทีเรียกรดแลคติค ทดสอบเอกลักษณ์เบื้องต้นโดยวิธีการย้อมสีแกรมและทดสอบการสร้างเอนไซม์คะตะเลส ทดสอบความสามารถในการยับยั้งเชื้อจุลินทรีย์ก่อโรคจำนวน 4 ชนิด ด้วยวิธี agar diffusion โดยการใช้ cylinder cup คัดเลือกแบคทีเรียที่มีฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรียก่อโรคทั้ง 4 ชนิด เพื่อทดสอบคุณสมบัติในการทนกรดที่ pH 2 และ pH 3 และทดสอบความสามารถในการทนต่อเกลือน้ำดี และทดสอบคุณสมบัติการดื้อต่อยาต้านจุลชีพด้วยวิธี agar disc diffusion ผลการวิจัย= จากผลการพิสูจน์เอกลักษณ์เบื้องต้น สามารถแยกแบคทีเรียกรดแลคติคซึ่งเป็นเชื้อแบคทีเรียแกรมบวก รูปร่างแท่งและไม่สร้างเอนไซม์คะตะเลส จำนวน 40 ไอโซเลท โดยมีแบคทีเรียกรดแลคติคที่สามารถยับยั้งเชื้อจุลินทรีย์ก่อโรคได้ทั้ง 4 ชนิด จำนวน 9 ไอโซเลท โดยเชื้อ FW1L-03 สามารถทนกรดที่ pH 2 ได้ดีที่สุด และเชื้อทั้ง 9 ไอโซเลท สามารถเจริญได้ดีที่ pH 3 และเกลือน้ำดีเมื่อบ่มเป็นระยะเวลา 3 ชั่วโมง ผลการทดสอบคุณสมบัติการดื้อยาพบว่าเชื้อทั้ง 9 ไอโซเลท มีความไวต่อยาแอมพิซิลลิน เตตราซัยคลิน เจนตามัยซิน และอิมิพีเนม แต่ดื้อต่อยานอร์ฟลอกซาซิน และซัลฟาเมทอกซาโซล สรุปผลการวิจัย= ผลการศึกษาที่ได้แสดงว่าแบคทีเรียกรดแลคติคมีคุณสมบัติในการต้านแบคทีเรียที่สามารถนำไปใช้เป็นโปรไบโอติกได้ อย่างไรก็ตามควรทำการศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับคุณสมบัติโปรไบโอติกด้านอื่นๆของเชื้อดังกล่าว
   
ปิดหน้าต่างนี้