บทคัดย่อ

ชื่อเรื่อง : ฤทธิ์การยับยั้งการเจริญและความเป็นพิษต่อเซลล์เนื้องอกสมอง ร้ายแรงชนิด Glioblastoma multiforme (GBM) ของสารสกัด Hydroxychavicol จากใบพลู
โดย : ชัชพงศ์ ชูโต และ ทิพวัลย์ โชติพนิชเศรษฐ์
ชื่อปริญญา : เภสัชศาสตร์บัณฑิต 6 ปี
อาจารย์ที่ปรึกษา : ผศ.ดร.ปาจารีย์ ทองงอก และ ดร.กุสุมา จิตแสง
คำสำคัญ : Glioblastoma multiforme, ความเป็นพิษต่อเซลล์, hydroxychavicol, พลู
   
Glioblastoma multiforme (GBM) จัดเป็นโรคเนื้องอกของสมองชนิดร้ายแรงหรือมะเร็งสมองที่พบบ่อยและมีความรุนแรงมากที่สุด ทั้งนี้เนื่องจากเซลล์มะเร็งมีความสามารถในการเจริญแบ่งตัวอย่างรวดเร็ว เปลี่ยนแปลงรูปร่างและการทำงานของเซลล์ และมีความสามารถในการเจริญรุกรานและทำลายเนื้อเยื่อข้างเคียง ส่วนการรักษาด้วยวิธีการผ่าตัด ฉายรังสี และเคมีบำบัด มักพบการกลับเป็นซ้ำ การพยากรณ์โรคและอัตราการมีชีวิตรอดที่ต่ำ ดังนั้นในปัจจุบันจึงมีการศึกษาค้นคว้าหาสารที่มีฤทธิ์ต้านมะเร็งชนิดใหม่ๆ จากสมุนไพร โดยพลูเป็นพืชสมุนไพรที่พบมาก มีการใช้พลูในการรักษาอาการระคายเคืองผิวหนังและรักษาการติดเชื้อรา นอกจากนี้ ยังมีรายงานการวิจัยที่พบว่า สารสกัดจากพลู โดยเฉพาะ hydroxychavicol มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ ยับยั้งการเจริญของเชื้อ และฤทธิ์ต้านมะเร็ง วัตถุประสงค์= การศึกษาครั้งจึงทำการแยกสกัดสารกลุ่มฟีนอลที่ชื่อ hydroxychavicol จากใบพลู และทดสอบผลของ hydroxychavicol ต่อการมีชีวิตของเซลล์ GBM ชนิด T98G เปรียบเทียบกับกลุ่มควบคุมที่ได้รับตัวทำละลายเพียงอย่างเดียว วิธีดำเนินการวิจัย= ทำการแยก hydroxychavicol โดยการแช่ผงแห้งใบพลูใน n-hexane จากนั้นนำไปกรอง นำกากที่ได้แช่ด้วย CH2Cl2 ทำการกรองแล้วนำสารสกัดที่ได้ไปแยกด้วยซิลิกาคอลัมน์ จากนั้นนำ fraction ที่ได้ทำการพิสูจน์เอกลักษณ์กับ hydroxychavicol บริสุทธิ์ด้วยวิธี TLC ทดสอบผลความเป็นพิษของสารสกัดบริสุทธิ์ที่ความเข้มข้นต่างๆ ต่อเซลล์ T98G โดยใช้ PrestoBlue Cell Viability Assay ผลการวิจัย= สามารถแยกสารสกัดบริสุทธิ์ hydroxychavicol จากใบพลูได้ด้วยเทคนิคโคมาโตกราฟฟี่ และพบว่าเซลล์ T98G ที่ได้รับ hydroxychavicol ที่ความเข้มข้น 500 µM เป็นเวลา 24 ชั่วโมง ค่าร้อยละของเซลล์รอดชีวิตเหลือเพียง 52.63 ซึ่งแตกต่างจากกลุ่มควบคุมและกลุ่มที่ได้รับสารสกัดที่ความเข้มข้นต่างๆ อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p<0.05) โดย hydroxychavicol ที่ความเข้มข้น 50, 100, 150 และ 300 µM ทำให้เซลล์มีร้อยละของการรอดชีวิตเท่ากับ 90.89, 90.90, 97.68, 83.71 ตามลำดับ สรุปผลการวิจัย= การศึกษาวิจัยครั้งนี้สามารถแยกสกัด hydroxychavicol จากใบพลูและ hydroxychavicol แสดงฤทธิ์ความเป็นพิษต่อเซลล์ T98G ที่นำมาทดสอบ จึงน่าสนใจที่จะทำการศึกษาด้านกลไกการออกฤทธิ์เพื่อพัฒนาเป็นยารักษามะเร็งต่อไป
   
ปิดหน้าต่างนี้