บทคัดย่อ

ชื่อเรื่อง : อุบัติการณ์การเกิดโรคซึมเศร้าในผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2
โดย : พงศกร มานิสสรณ์ และ ภูวนาท ศาสตร์ประสิทธิ์
ชื่อปริญญา : เภสัชศาสตร์บัณฑิต 6 ปี
อาจารย์ที่ปรึกษา : ผศ.ดร แสวง วัชระธนกิจ , ผศ.(พิเศษ) ภญ. อาภรณ์ จตุรภัทรวงศ์ และ ภก. ธนัฎชา สองเมือง
คำสำคัญ : เบาหวานชนิดที่ 2, โรคซึมเศร้า
   
โรคซึมเศร้าเป็นภาวะที่พบได้บ่อยในผู้ป่วยเบาหวาน หากไม่ได้รับการดูแลรักษาอาจก่อให้เกิดผลเสียต่อผู้ป่วย โดยพบอัตราการเกิดภาวะแทรกซ้อน ภาวะทุพพลภาพ รวมทั้งอัตราการเสียชีวิตเพิ่มขึ้น งานวิจัยโคฮอร์ทแบบย้อนหลัง (retrospective cohort study) นี้มีวัตถุประสงค์เพื่อหาอุบัติการณ์โรคซึมเศร้าในผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 สืบค้นข้อมูลจากฐานข้อมูลผู้ป่วยนอกโรงพยาบาลวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี คัดเลือกผู้ป่วยที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 2 รายใหม่ระหว่างวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2550 ถึง 31 ธันวาคม พ.ศ. 2552 ด้วยรหัสโรค ICD-10 คือ E11 ติดตามผู้ป่วยจนถึงวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2557 ค้นหาโรคซึมเศร้าของผู้ป่วยจาก (1) รหัสโรค ICD-10 คือ F32-33 (2) ได้รับยา Fluoxetine หรือ Sertraline อย่างน้อย 3 เดือน (3) อาการแสดงของผู้ป่วยที่ได้รับการประเมินจากแบบคัดกรองโรคซึมเศร้า ผลการศึกษาพบผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 รายใหม่จำนวนทั้งสิ้น 1,471 ราย พบอุบัติการณ์การเกิดโรคซึมเศร้า 13.59 ต่อพันประชากร (95% CI = 11.37-16.24) มีอุบัติการณ์ของโรคซึมเศร้าในเพศหญิงและเพศชาย 14.25 ต่อ1,000 person-years (95% CI = 11.40-17.82) และ 12.57 ต่อพันประชากร (95% CI = 9.35-16.89) ตามลำดับ และพบว่าอุบัติการณ์ของโรคซึมเศร้าในการใช้ยารักษาเบาหวานชนิดรับประทานอย่างเดียว ยาฉีดอินซูลินอย่างเดียว และใช้ยาชนิดรับประทานและยาฉีดอินซูลินร่วมกัน เท่ากับ 15.33 ต่อพันประชากร (95% CI = 12.42-18.18) 7.02 ต่อพันประชากร (95% CI = 3.89-12.67) และ 14.14 ต่อพันประชากร (95% CI = 5.31-37.68) ตามลำดับ โดยสรุปพบโรคซึมเศร้าในผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 13.59 ต่อพันประชากร ซึ่งมากกว่าอัตราการเกิดโรคซึมเศร้าในกลุ่มประชากรทั่วไป จึงควรมีการติดตามประเมินโรคซึมเศร้าอย่างสม่ำเสมอในผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2
   
ปิดหน้าต่างนี้